คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยไม่ได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยร้ายแรงอย่างไรแต่ในฎีกากลับอ้างว่าจำเลยทำลายป่าสงวนแห่งชาติและทำให้เสื่อมสภาพอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นความผิดที่ร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงสมควรได้รับการลงโทษในสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษจำคุกจึงเป็นการคาดคะเนของโจทก์เองซึ่งอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้และไม่ปรากฎว่าจำเลยมีพฤติการณ์ว่าเคยกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้มาก่อนการกระทำของจำเลยไม่ร้ายแรงนักที่ศาลรอการลงโทษจำคุกจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 48, 69, 73, 34, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35,พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 16(2) (13),24, 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลางและจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 (ที่ถูกมาตรา 11 วรรคหนึ่ง), 48(ที่ถูกมาตรา 48 วรรคหนึ่ง), 69 (ที่ถูกมาตรา 69 วรรคหนึ่ง),73 (ที่ถูกมาตรา 73 วรรคหนึ่ง), 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31(ที่ถูกมาตรา 31 วรรคหนึ่ง), 35 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 16(2) (13), 24, 27 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาทฐานแปรรูปไม้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท ฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูปปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน ปรับ 9,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนปรับ 4,500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีหรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยร้ายแรงอย่างไรเพียงแต่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่ในฎีกากลับอ้างว่าจำเลยทำลายป่าสงวนแห่งชาติและทำให้เสื่อมสภาพอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นความผิดที่ร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงจำเลยจึงสมควรได้รับการลงโทษในสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาดังกล่าวเป็นการคาดคะเนของโจทก์เองซึ่งอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีพฤติการณ์ว่าเคยกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้มาก่อน การกระทำของจำเลยไม่ร้ายแรงนักเห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์แม้เป็นข้อกฎหมายแต่ก็เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งเป็นข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share