คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 557/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขนถ่ายสินค้ากระดาษของโจทก์และจำเลยที่ 3 จากเรืออริสโตเติลลงเรือฉลอมโดยประมาทเลินเล่อทำให้สินค้ากระดาษของโจทก์บางส่วนถูกสับเปลี่ยนและส่งมอบไปให้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์ได้รับสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 3 มาแทน เมื่อหักกลบกันแล้ว จำเลยที่ 3 รับสินค้าของโจทก์เกินไป คิดเป็นเงิน 1,724,364 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเจ้าของเรือ ผู้รับจ้างขนส่ง และนายจ้างหรือตัวการ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้ากระดาษของโจทก์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบสินค้ากระดาษของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ร่วมกันชำระราคาสินค้าที่จำเลยที่ 3 รับเกินไปแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ฐานผิดสัญญาประกันภัย และให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ฐานรับมอบทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์ในการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันได้ หาใช่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ แต่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้เรื่องอายุความโดยจำเลยที่ 3 ด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) เมื่อคดีของจำเลยที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะได้หยิบยกประโยชน์แห่งอายุความให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอายุความและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 3 แล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเจ้าของเรือผู้รับจ้างขนส่งและนายจ้างหรือตัวการที่ใช้จ้างวานให้ลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำตามคำสั่งในการขนถ่ายสินค้า และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับสินค้าของโจทก์ไปโดยไม่มีสิทธิกับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่สินค้าของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,724,364 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนชี้สองสถานโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 1,724,326 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คงให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขนถ่ายสินค้ากระดาษของโจทก์และของจำเลยที่ 3 จากเรืออริสโตเติลลงเรือฉลอมโดยประมาทเลินเล่อทำให้สินค้ากระดาษของโจทก์บางส่วนถูกสับเปลี่ยนและส่งมอบไปให้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์ได้รับสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 3 มาแทน เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วจำเลยที่ 3 รับสินค้ากระดาษของโจทก์เกินไปจำนวน 135,597.783 กิโลกรัม เป็นเงิน 1,724,364 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเจ้าของเรือ ผู้รับจ้างขนส่ง และนายจ้างหรือตัวการ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้ากระดาษของโจทก์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบสินค้ากระดาษของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ร่วมกันชำระราคาสินค้าที่จำเลยที่ 3 รับเกินไปแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ฐานผิดสัญญาประกันภัย และให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ฐานรับมอบทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์ในการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันได้ หาใช่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ แต่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้เรื่องอายุความโดยจำเลยที่ 3 ด้วยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อคดีของจำเลยที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะได้หยิบยกประโยชน์แห่งอายุความให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอายุความและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 3 แล้วถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share