คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5523/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีการผิดสัญญาประกันจำเลยเกิดขึ้น พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินคดี หาใช่หน้าที่ของศาลเจ้าหน้าที่ของศาลหรือนายประกันที่จะเป็นผู้นำยึดทรัพย์ที่วางประกันไม่่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณานายประกันยื่นคำร้องขอปล่อยจำเลยชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตีราคาประกัน 350,000 บาท ต่อมานายประกันทั้งสองไม่ส่งตัวจำเลยมาตามกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวหมายจับจำเลย และปรับนายประกันทั้งสองเต็มตามสัญญาประกัน นายประกันทั้งสองไม่่ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้พนักงานอัยการดำเนินการบังคับคดีต่อนายประกันทั้งสองตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 พนักงานอัยการยื่นคำร้องลงวันที่ 27 สิงหาคม 2536ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินน.ส. 3 ก. เลขที่ 1782 และ 2644 ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าว่านอำเภอท่่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งนายประกันทั้งสองนำมาวางประกันออกขายทอดตลาด กับของให้ศาลออกหมายเรียกนายประกันทั้งสองมาสอบถามและไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์ดังกล่าวว่ามีอยู่จริงหรือไม่อยู่่ ณ ที่ใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 277และให้นายประกันทั้งสองเป็นผู้นำยึด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า หลักทรัพย์อยู่นอกเขตศาลต้องให้ศาลมีอำนาจดำเนินการให้ และออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 31สิงหาคม 2536 ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของนายประกันตามสัญญาประกัน โดยให้พนักงานอัยการเป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายประกันทั้งสองเพื่อชำระหนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันต่อศาล
พนักงานอัยการอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
พนักงานอัยการฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของพนักงานอัยการว่า เมื่อนายประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาลเป็นหน้าที่ของนายประกันทั้งสองทีจะเป็นผู้นำยึดทรัพย์ที่วางประกันหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา119 เมื่อศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ถ้าผู้ประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498มาตรา 11(8) บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น” และตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ดำเนินคดี” ไว้ว่าหมายถึงการดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ในทางอรรถคดีของทางพนักงานอัยการ ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า เมื่อมีการผิดสัญญาประกันจำเลยเกิดขึ้นพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินคดี หาใช่หน้าที่ของศาล เจ้าหน้าที่ของศาลหรือนายประกันที่่จะเป็นผู้นำยึดทรัพย์ที่วางประกันไม่ หน้าที่ในทางอรรถคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างไร ปรากฎอยู่ในมาตรา 11(8) นั่นเองว่า ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น ซึ่งหมายถึงการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีการนำยึดและจัดการอื่นใดในทางอรรถคดี เพื่อเป็นผลให้ได้เงินค่าปรับตามคำสั่งศาล ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นในหมายบังคับคดีที่ให้พนักงานอัยการเป็นผู้มีหน้าที่นำยึดทรัพย์ที่วางประกันนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share