แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์โดยขณะกู้ยืมและขณะจำเลยลงลายมือชื่อหนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ ไว้เลยต่อมาโจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินกู้ขึ้นเองในภายหลังเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่กู้จริงโดยจำเลยไม่รู้เห็นและยินยอม ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินจึงเป็นสัญญากู้ปลอม ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2534 จำเลยกู้เงินโจทก์ 60,000 บาทตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จะชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนโจทก์ภายในวันที่ 10 มกราคม 2535 แล้วผิดนัดไม่ชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน60,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ได้กู้เงินจากโจทก์จริง แต่จำเลยได้รับเงินเพียง 22,000 บาทจำเลยลงชื่อในสัญญากู้เงินตามฟ้องซึ่งยังไม่มีข้อความ โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความและจำนวนเงินในภายหลัง สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นสัญญาปลอม จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 468 ไปมอบให้โจทก์ไว้เป็นประกันเพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 บาทต่อเดือน เพราะหากไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกันโจทก์จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 12,760 บาทคงค้างชำระ 9,240 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าวันที่ 10 มกราคม 2534 จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1และจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยเลขที่ 6079 ตำบลหนองหมีอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.1ไม่เป็นเอกสารปลอมเพราะโจทก์ให้จำเลยกู้เงิน 60,000 บาท จริงตามสัญญากู้ยืม
คดีมีปัญหาว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 60,000 บาท หรือ 22,000 บาท ข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า ในวันทำสัญญากู้เงินยังไม่มีการกรอกข้อความลงในเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาต่อไปอีกว่า โจทก์กรอกข้อความจำนวนเงินภายหลังมากกว่าจำนวนกู้จริงโดยจำเลยไม่ยินยอมหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามเอกสารหมาย จ.2 ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันด้วย เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะกู้ยืมและขณะจำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ยังไม่ได้กรอกข้อความ โจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินกู้ขึ้นเองในภายหลังเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่กู้จริง โดยจำเลยไม่รู้เห็นและยินยอมหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญากู้ปลอม ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้
พิพากษายืน