แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ภายหลังเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญา ความเสียหายจึงเกิดขึ้นแก่โจทก์ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือชดใช้ราคา การที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์คืนหรือชดใช้ราคาจึงไม่ชอบโดยค่าเสียหายนี้ควรกำหนดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดไว้ด้วยเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมเสื่อมสภาพไปตามปกติของการใช้ทั้งโจทก์เองก็ควรรีบเร่งในการบังคับคดี มิใช่มุ่งแต่จะบังคับเอาค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีเวลาสิ้นสุด
ค่าเสียหายภายหลังจากที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว หาใช่เป็นกรณีว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดอันจะก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียนก-5777 พิษณุโลก และหมายเลขทะเบียน ก-6555 พิษณุโลก คืนโจทก์หากคืนไม่ได้ขอให้ชดใช้เงินจำนวน 450,000 บาท และ 1,700,000 บาทแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เป็นเงิน 1,145,199.98 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 230,663.99 บาท กับค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนอัตราเดือนละ 32,000 บาท พร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ของค่าขาดประโยชน์นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนจนครบแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องกับโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงกว่าที่โจทก์เสียหายจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียนก-5777 พิษณุโลก และ ก-6555 พิษณุโลก แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 290,000 บาท และ 1,200,000 บาท ตามลำดับกับให้ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 700,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์สองคัน โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์รุ่น 190 อี หมายเลขทะเบียน ก-5777พิษณุโลก ไปจากโจทก์ในราคา 830,844 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 23,079 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 และชำระงวดต่อไปในวันที่ 25 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมายจ.3 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 16 งวด ในงวดที่ 16 วันที่ 25สิงหาคม 2536 ชำระให้เพียง 16,061.82 บาท รวมเป็นเงิน 362,246.82บาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิรุ่น 300 จีทีโอ หมายเลขทะเบียน ก-6555 พิษณุโลก ในราคา2,254,205.76 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ46,962.62 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 มกราคม 2536และชำระงวดต่อไปทุกวันที่ 5 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 4 งวด ในงวดที่ 4 วันที่ 5 เมษายน 2536 ชำระเพียง 43,675.24บาท รวมเงินที่ชำระแล้ว 184,563.10 บาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนให้โจทก์
โจทก์ฎีกาข้อที่สามขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 32,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์สองคันคืนโจทก์หรือชดใช้ราคาด้วยนั้นเห็นว่า ภายหลังที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้เช่าซื้อแล้ว ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อยังครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอยู่ ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ให้เช่าซื้อกรณีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ภายหลังเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วความเสียหายจึงเกิดขึ้นแก่โจทก์ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันคืนโจทก์หรือชดใช้ราคา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันคืนโจทก์หรือชดใช้ราคาตามที่โจทก์ขอ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โดยค่าเสียหายส่วนนี้ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดไว้ด้วยเพราะรถยนต์สองคันที่เช่าซื้อย่อมต้องเสื่อมสภาพไปตามปกติของการใช้ ทั้งโจทก์เองก็ควรรีบเร่งในการบังคับคดีมิใช่มุ่งแต่จะบังคับเอาค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่มีเวลาสิ้นสุด จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ 21,875 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันคืนโจทก์หรือชดใช้ราคา แต่ค่าเสียหายดังกล่าวกำหนดให้ไม่เกิน 6 เดือน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของค่าเสียหายคิดเป็นเงิน 230,663.99 บาท นั้น เห็นว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวโจทก์ขอเรียกเก็บเอาจากค่าเสียหายซึ่งประกอบด้วยราคารถยนต์ทั้งสองคันตามสัญญาเช่าซื้อและค่าขาดประโยชน์ โดยเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่จะต้องคืนรถยนต์ทั้งสองคันเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อกลับคืนสู่ฐานะเดิม หากคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารถยนต์ดังกล่าว อีกทั้งจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ในการใช้รถยนต์ทั้งสองคันของโจทก์ในระหว่างที่ตนยังไม่ส่งมอบรถยนต์คืนด้วย ซึ่งจำนวนเงินที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระราคาค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด อันจะก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เพราะค่าเสียหายดังกล่าวกำหนดให้เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ภายหลังที่สัญญาเช่าซื้อรถยนต์เลิกกันแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนโจทก์ไม่ได้ ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 320,000 บาทและ 1,400,000 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ 21,875 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนโจทก์หรือชดใช้ราคา แต่ค่าเสียหายดังกล่าวกำหนดให้ไม่เกิน 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์