คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่าวัดโจทก์มีที่ดินแปลงหนึ่งใช้เป็นป่าช้าสำหรับเผาและฝังศพราษฎร เท่ากับโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของวัด การที่ศาลไปฟังว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้าซึ่งเป็นของวัด แม้จะตั้งอยู่ห่างจากตัววัด ก็จัดเข้าอยู่ในประเภทที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วัดนาท่อมมีที่ดิน ๑ แปลงใช้เป็นป่าช้าฝังและเผาศพของราษฎร จำเลยได้เข้าแผ้วถางทำเป็นนาและไม่ยอมออก ขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นที่ป่าช้าสาธารณะของวัดนาท่อมและให้ขับไล่จำเลยออกไป
จำเลยให้การว่าที่ดินพาท จำเลยได้รับมรดกจากบิดา และได้ครอบครองมาประมาณ ๑๙ ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าของโจทก์ครอบครอง ให้ขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้านากวดอันเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่ได้ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเชื่อว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้านากวด แต่ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดเจนว่าวัดนาท่อมโจทก์มีที่ดินแปลงหนึ่งใช้เป็นป่าช้าสำหรับเผาและฝังศพราษฎรชื่อว่าป่าช้านากวด ก็เมื่อโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของวัด ศาลกลับไปฟังว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น วัดเป็นนิติบุคคลก็ย่อมเป็นเจ้าของที่ดินได้ และเห็นว่าป่าช้าที่พิพาทจัดอยู่ในประเภทที่กรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๓ อนุมาตรา ๒ ซึ่งแม้จำเลยจะได้ครอบครองมาช้านานเพียงใด จำเลยก็หามีสิทธิในที่พิพาทไม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔
พิพากษายืน.

Share