แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในวันเดียวกัน แล้วปล่อยตัวจำเลยไป โดยไม่มีการควบคุมตัวจำเลยไว้ หรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน แสดงว่าจำเลยไม่ถูกพนักงานสอบสวนจับกุม เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับกุม จึงยังไม่มีจุดเริ่มต้นในการนับระยะเวลาในการฟ้องคดี โจทก์สามารถฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 358
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเข้ามอบตัววันที่ 22 มิถุนายน 2547 ถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันนี้ จึงเป็นการฟ้องเกิน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับ โดยไม่มีการผัดฟ้องและไม่ได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง (ที่ถูกเป็นคำสั่งไม่รับฟ้อง)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยถูกพนักงานสอบสวนจับกุมแล้วหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ในวันเดียวกัน แล้วปล่อยตัวจำเลยไป โดยไม่มีการควบคุมตัวจำเลยไว้หรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวระหว่างสอบสวน การกระทำของพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นการกระทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 คือเพียงแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินการสอบสวนโดยมิได้จับกุมจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 49 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 และมาตรา 83 แสดงว่าจำเลยไม่ถูกพนักงานสอบสวนจับกุม เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับกุมจึงยังไม่มีจุดเริ่มต้นในการนับระยะเวลากำหนดกรอบเวลาในการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม ถ้าฟ้องไม่ทันจะต้องมีการขอผัดฟ้องต่อศาลตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องตามมาตรา 51 แล้ว พนักงานอัยการจะฟ้องได้ต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดตามมาตรา 53 การฟ้องคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์สามารถฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป