คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาในเรื่องอำนาจฟ้องว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าขณะทำหนังสือมอบอำนาจ ศ.ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์หรือไม่เพราะหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุวันที่การทำหนังสือมอบอำนาจไว้นั้น ในประเด็นนี้จำเลยให้การสู้คดีไว้ว่า การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิใช่ลายมือที่แท้จริงของ ศ.กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจากจำเลยได้เบิกเงินจากบัญชีกระแส-รายวัน เลขที่ 5151-5 ที่สาขาขอนแก่นของโจทก์ โดยใช้เช็คหรือใบเบิกที่โจทก์มอบให้ และได้นำเงินเข้าบัญชีอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี แต่จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ คิดตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม2531 อันเป็นที่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ถึงวันที่ 29 มิถุนายน2534 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 1,602,129.80 บาท คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาข้อนี้ด้วย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2533โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยเพราะสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้วนั้นจำเลยให้การสู้คดีไว้ว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์และยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องเพราะจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องตามคำให้การดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เงินและไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share