แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยในข้อที่เป็นการสรุปคำให้การที่แสดงโดยชัดแจ้งแล้วเท่านั้น ไม่มีการเพิ่มเติมประเด็นข้อพิพาทระหว่างคู่ความขึ้นใหม่ให้แตกต่างไปจากคำให้การเดิม ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยในข้อที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องแย้งเท่ากับไม่ติดใจบังคับตามฟ้องแย้งตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งแล้วคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ไม่ได้เพิ่มเติมประเด็นข้อพิพาทระหว่างคู่ความขึ้นใหม่แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การได้หรือไม่ก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงหรือในที่สุดผลของคดีซึ่งศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยตรงตามประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยให้การต่อสู้แล้วเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอแก้ไขคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นสาระแก่คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ช – 1908 กรุงเทพมหานคร และจดทะเบียนโอนต่อกรมการ-ขนส่งทางบก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ไม่เคยโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ข้อความในแบบคำขอโอนและรับโอนดังกล่าวเป็นเท็จที่โจทก์ทำขึ้นมาเองตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวแก่รถยนต์พิพาทกับโจทก์นั้น ไม่เป็นความจริง จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ใช้ในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยและไม่เคยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้โจทก์ ส่วนที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยนั้นเพราะขณะโจทก์เป็นกรรมการของจำเลยได้ขอยืมเงินจากจำเลย จำเลยได้ให้บริษัทไทยไฮดรอลิคอินดัสเตรียลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยทดรองจ่ายเงินยืมให้โจทก์ จำนวนไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ต่อมาโจทก์ลาออกจากกรรมการของจำเลย จำเลยจึงให้โจทก์ชำระเงินยืมและเงินทดรองคืนให้แก่บริษัทดังกล่าวแต่โจทก์ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้เงินยืมและเงินทดรองคืน จำเลยจึงให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแก่บริษัทฐิติกร จำกัด แทนจำเลยเพื่อหักกลบลบหนี้เงินยืมและเงินทดรองที่โจทก์ต้องชดใช้ให้แก่บริษัทในเครือแล้วโจทก์ขอยืมรถยนต์พิพาทใช้ภายหลังจากที่ชำระเงินค่าเช่าซื้อต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เมื่อโจทก์ไปขอสมุดคู่มือจดทะเบียนจากบริษัทฐิติกรจำกัด แต่บริษัทฐิติกร จำกัด ไม่มอบให้เพราะไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากจำเลย จำเลยจึงขอให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน โจทก์ย้ายหนีไปจากบ้านเลขที่ตามที่ระบุในฟ้องไม่คืนรถยนต์พิพาททำให้จำเลยเสียหายขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์คืนรถยนต์พิพาทพร้อมทั้งค่าเสื่อมราคาเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 500,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันที่โจทก์ใช้ราคากับให้โจทก์ใช้ค่าขาดประโยชน์วันละ 600 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันส่งมอบรถยนต์พิพาทหรือใช้ราคา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งคืนค่าขึ้นศาลสำหรับฟ้องแย้งทั้งหมด
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การศาลชั้นต้นสั่งว่าการขอเพิ่มเติมคำให้การ เป็นการแสวงหาโอกาสและเอาเปรียบในเชิงคดีจึงไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาเห็นว่าคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งเป็นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งให้รวมไว้อุทธรณ์ในคราวเดียวกันกับคำพิพากษาจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งว่าอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาจึงให้รวมสำนวนไว้เพื่อนำไปพิจารณาคราวเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วและมีอุทธรณ์จึงจะรวมส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ช – 1908 กรุงเทพมหานคร และจดทะเบียนโอนรถยนต์คันดังกล่าวต่อกรมการขนส่งทางบก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรหยิบยกปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยนั้นชอบหรือไม่ก่อน เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ที่ให้โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ใน คำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกได้นั้น ก็เพื่อให้โอกาสแก่โจทก์หรือจำเลยแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่มีอยู่ในคำฟ้องหรือคำให้การเพื่อให้มีความสมบูรณ์คำให้การของจำเลยคดีนี้ได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การแล้วว่า “จำเลยไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้โจทก์ โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทแทนจำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินยืมและเงินทดรองคืนที่โจทก์ยืมไปจากบริษัทในเครือของจำเลยและเงินทดรองที่ยืม แม้คำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยคดีนี้จะเป็นคำคู่ความ แต่เมื่อพิจารณาคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยในข้อ ก. ที่ว่า “จำเลยไม่ได้โอนรถยนต์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ ที่โจทก์ชำระค่างวดรถยนต์ที่พิพาทก็เพื่อชำระหนี้เท่านั้นโจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย การครอบครองรถยนต์ที่พิพาทของโจทก์โดยไม่ยอมส่งคืนให้จำเลยจนกระทั่งปัจจุบันเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ดังนั้น” ก็เป็นการสรุปคำให้การที่แสดงโดยชัดแจ้งแล้วเท่านั้น ไม่มีการเพิ่มเติมประเด็นข้อพิพาทระหว่างคู่ความขึ้นใหม่ให้แตกต่างไปจากคำให้การเดิมแต่อย่างใด ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยในข้อ ข. ที่ว่า “คำให้การจำเลยที่กล่าวมาข้างต้นจำเลยขอถือเอาเป็นคำฟ้องแย้ง” กับข้อ ค. ที่ขอตัดในส่วนที่เกี่ยวกับขอให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่พิพาทคืนหรือใช้ราคาและให้ใช้ค่าเสียหายออกทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องแย้งเท่ากับไม่ติดใจบังคับตามฟ้องแย้ง ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งแล้ว ดังนั้น คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ไม่ได้เพิ่มเติมประเด็นข้อพิพาทระหว่างคู่ความขึ้นใหม่ดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การได้หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงหรือในที่สุดผลของคดีซึ่งศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยตรงตามประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยให้การต่อสู้แล้วเปลี่ยนแปลงไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและยกคำร้องเสียนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอแก้ไขคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นสาระแก่คดี”
พิพากษายืน