คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5453/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิตสำหรับปี 2546 ถึงปี 2551 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทกันตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตเท่านั้น การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นสถานบริการตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “สถานบริการ” ไว้เป็นที่ชัดเจนแล้ว โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า “สถานบริการ” ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกันและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
แม้สถานประกอบการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาใช้เป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ โดยการให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นสถานที่ทำให้รื่นเริงหรือบันเทิงใจ ซึ่งเปิดในเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย อันมีลักษณะแตกต่างจากร้านอาหารหรือภัตตาคารโดยทั่วไป อีกทั้งเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน นอกจากนี้โจทก์ยังมีวัตถุที่ประสงค์ว่า ประกอบกิจการภัตตาคาร ห้องอาหาร บาร์ ไนท์คลับ ดังนั้น สถานประกอบการของโจทก์จึงจัดอยู่ในพิกัดลักษณะบริการประเภท 09.01 ไนต์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิต ที่ กค 0614/1792 ฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 และคำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิต ที่ กค 0603/7570 และ ที่ กค 0603/7571 ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2553 รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิต เลขที่ 1/2554 ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2554
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความให้ใช้แทนจำนวน 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า โจทก์ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามที่ถูกจำเลยประเมินหรือไม่ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 7 บัญญัติว่า ให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการมีหน้าที่เสียภาษีตามบริการนั้น ตามอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราสรรพสามิตที่ใช้อยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น โดยพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า ภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ให้เรียกเก็บตามพิกัดอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตฯ ตอนที่ 9 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า การที่จำเลยจะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ โจทก์จะต้องเป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 เสียก่อน จึงพิจารณาต่อไปว่าเป็นสถานบริการประเภทใด ตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 หากไม่ยึดถือคำว่า “เต้นรำ” มีความหมายตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แล้ว จะถือได้อย่างไรว่าสถานประกอบการของโจทก์เป็นสถานบริการ เมื่อไม่ใช่สถานบริการก็ย่อมไม่ใช่กิจการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ลักษณะบริการประเภท 09.01 ไนท์คลับและดิสโกเธค ซึ่งสถานที่สำหรับดิสโกเธคต้องมีฟลอร์สำหรับเต้นรำ เมื่อสถานประกอบการของโจทก์ไม่มีฟลอร์สำหรับเต้นรำ จึงไม่อาจจัดอยู่ในพิกัดลักษณะบริการประเภท 09.01 ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2552 ที่วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “สถานบริการ” หมายความถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้าดังต่อไปนี้ (1) สถานเต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ… แต่ไม่มีบทนิยามคำว่า เต้นรำ ไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า เต้นรำ หมายความถึง เคลื่อนไปโดยมีระยะก้าวตามกำหนดให้เข้าจังหวะกับดนตรี ซึ่งเรียกว่าลีลาศ โดยปรกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง รำเท้า ก็ว่า เช่น ฝรั่งรำเท้า ส่วนคำว่า ลีลาศ หมายความถึง เต้นรำแบบตะวันตกบางชนิด เช่น ออกไปลีลาศ แสดงว่าต้องมีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศ ฉะนั้น เมื่อคดีได้ความว่าสถานบริการที่เกิดเหตุไม่มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศได้ จึงไม่ใช่สถานเต้นรำ ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แม้นักร้องจะชักชวนลูกค้าให้ร่วมสนุกด้วย โดยลูกค้ายืนเต้นหรือนั่งเต้นตามจังหวะเพลงบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็หาใช่เป็นการจัดให้มีการเต้นรำไม่ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งพระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในวันที่ 29 มกราคม 2546 เป็นต้นไปนั้น ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดลักษณะประเภทสินค้าและบริการที่รัฐต้องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยได้บัญญัตินิยามคำว่า “บริการ” หมายความว่า การให้บริการในทางธุรกิจในสถานบริการ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และให้นิยามคำว่า “สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่สำหรับประกอบกิจการในด้านบริการ และให้หมายความถึงสำนักงานใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในการประกอบกิจการ ในกรณีที่ไม่อาจกำหนดสถานที่ให้บริการได้แน่นอน เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิตสำหรับปี 2546 ถึง 2551 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทกันตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตเท่านั้น การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องพิจารณาว่าโจทก์เป็นสถานบริการตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ที่กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “สถานบริการ” ไว้เป็นที่ชัดเจนแล้ว โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า “สถานบริการ” ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งมีเหตุผลในการประกาศใช้คือ เพื่อควบคุมสถานบริการบางประเภทที่ดำเนินการไปในทางกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชนมาพิจารณาดังที่โจทก์อุทธรณ์หาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกันและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2552 ที่วินิจฉัยนิยามคำว่า “เต้นรำ” และ “ลีลาศ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ก็เป็นการวินิจฉัยไปตามนิยามคำว่า “สถานบริการ” ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ที่ให้นิยามคำว่า “สถานบริการ” หมายความถึง สถานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า ดังต่อไปนี้ (1) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ… ซึ่งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการฯ มีความหมายแตกต่างจากคำว่า “สถานบริการ” ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ดังที่กล่าวมาข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวมาเทียบเคียงได้ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า เมื่อสถานประกอบการของโจทก์ไม่มีฟลอร์เต้นรำ สถานบริการของโจทก์จึงไม่เป็นสถานที่สำหรับเต้นรำ แม้ผู้ไปใช้บริการสถานบริการของโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อไปเต้นรำ ก็หาทำให้สถานประกอบการของโจทก์เป็นสถานที่เต้นรำไปได้ เป็นได้อย่างมากแค่การเต้นเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 กำหนดรายการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 9 “กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ” หมายความว่า การประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการ เพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ เช่น สถานมหรสพ สถานที่ฉายภาพยนตร์ ไนท์คลับ คาบาเรต์ ดิสโกเธค เป็นต้น โดยกิจการไนท์คลับและดิสโกเธค จัดอยู่ประเภทที่ 09.01 แต่ไม่ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “ไนท์คลับ” และ “ดิสโกเธค” ไว้ จึงต้องหาความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งให้นิยามคำว่า “ไนต์คลับ” คือ สถานเริงรมย์ที่เปิดเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย แต่พจนานุกรมฉบับดังกล่าวไม่ให้นิยามคำว่า “ดิสโกเธค” ไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า สถานประกอบการของโจทก์เป็นอาคารขนาดใหญ่ โดยชั้นที่ 1 เป็นห้องโถง ประกอบด้วยโต๊ะและเก้าอี้สำหรับนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มจัดวางอยู่เต็มพื้นที่ จนติดขอบเวทีการแสดง จัดให้มีพื้นที่ว่างไว้เฉพาะทางเดิน ไม่มีฟลอร์เต้นรำ ไม่มีพื้นที่สำหรับใช้เต้นรำหรือลีลาศ มีห้องพิเศษส่วนตัว (ห้อง วี.ไอ.พี.) ห้องครัวและห้องน้ำ มีพื้นที่ยกระดับด้านหน้าใช้สำหรับทำเป็นเวทีการแสดงดนตรี โดยมีวงดนตรีเล่นประจำในเวลากลางคืน ส่วนชั้นลอยมีพื้นที่จัดไว้ในลักษณะเป็นรูปตัวยูหันหน้าเข้าหาเวที มีการจัดวางโต๊ะและเก้าอี้สำหรับนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มประจำแต่ละโต๊ะ การให้บริการเป็นแบบลูกค้าเข้ามานั่งประจำที่บริเวณโต๊ะอาหารที่จัดไว้ให้แล้วสั่งอาหารและเครื่องดื่มมานั่งดื่มกิน พร้อมทั้งฟังเพลงจากวงดนตรีที่จัดให้มีการแสดงสดอยู่บนเวที ในบางครั้งหรือบางโต๊ะลูกค้าอาจจะยืนหรือนั่งยกแขน – ยกขา โยกย้ายร่างกายไปตามจังหวะเสียงเพลง เพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจไปตามจังหวะของเสียงเพลงประจำอยู่ตามโต๊ะที่มาใช้บริการ อีกทั้งยังได้ความจากนายทศชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์โดยเบิกความตามคำฟ้องของโจทก์ นอกจากนี้ยังได้ความตามคำเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านอีกว่า สถานประกอบการของโจทก์เป็นสถานที่ดื่มกิน และมีการแสดงดนตรี สถานประกอบการของโจทก์ในบางครั้งจะเปิดทำการตั้งแต่เวลา 18.00 ถึง 1.00 นาฬิกา แต่โดยปกติแล้วจะเริ่มเปิดทำการเวลาประมาณ 20.00 นาฬิกา สถานประกอบการของโจทก์จะมีการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและอาหาร ภายในสถานประกอบการของโจทก์จะมีเวทีสำหรับการแสดง และมีบูทสำหรับดีเจเพื่อเปิดเพลงด้วย บริเวณหน้าเวทีสำหรับใช้แสดงจะมีโต๊ะเล็กๆ วางอยู่ โต๊ะดังกล่าวโดยสภาพสามารถที่จะยกเคลื่อนย้ายได้ โดยสถานบริการจะมีการจัดเก้าอี้ไว้ให้ ถ้าลูกค้าประสงค์จะใช้เก้าอี้ก็จะร้องขอและสถานบริการก็จะจัดให้ตามขอ แต่ถ้าประสงค์จะยืนก็ไม่จำเป็นต้องใช้เก้าอี้ เก้าอี้ที่จะใช้เป็นเก้าอี้มีลักษณะขาสูง บนโต๊ะจะมีทั้งอาหารและเครื่องดื่มวางอยู่ บนเวทีการแสดงจะมีการติดตั้งไฟแสงสีไว้ด้วย เมื่อมีการเปิดให้บริการจะเปิดไฟสลัว แต่สามารถมองเห็นหน้ากันได้ไม่ถึงขนาดมืด เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นเครื่องดนตรีสากล เพลงที่ใช้เปิดในสถานบริการเป็นเพลงแนวสมัยใหม่ หากผู้ใช้บริการต้องการเต้นหรือโยกตัวไปมาก็จะอยู่บริเวณข้างโต๊ะหรือที่โต๊ะของตน เมื่อลูกค้าเต้นหรือโยกตัวไปมาก็จะไม่มีการห้ามโดยเจ้าหน้าที่ของสถานบริการ ดังนี้ แม้สถานประกอบการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาใช้เป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ โดยการให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นสถานที่ทำให้รื่นเริงหรือบันเทิงใจ ซึ่งเปิดในเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย อันมีลักษณะแตกต่างจากร้านอาหารหรือภัตตาคารโดยทั่วไป อีกทั้งเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน นอกจากนี้โจทก์ยังมีวัตถุที่ประสงค์ข้อ 23 ว่า ประกอบกิจการภัตตาคาร ห้องอาหาร บาร์ ไนต์คลับ ตามหนังสือรับรองของโจทก์ การที่โจทก์อ้างแต่เพียงว่าสถานประกอบการของโจทก์ไม่มีฟลอร์สำหรับเต้นรำหรือลีลาศ ไม่เป็นกรณีตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงไม่อาจจัดอยู่ในพิกัดลักษณะบริการประเภท 09.01 ไนท์คลับและดิสโกเธคจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามที่จำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมิน ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีสรรพสามิตมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share