แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การชำระหนี้เงินกู้ด้วยเช็ค เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 (อ้างฎีกาที่ 767/2505)
สัญญากู้ที่มีข้อความว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดที่ให้ชำระรายเดือน ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินทันที และยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเป็นต้นเงินซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยด้วย เป็นการให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ทันทีที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ย จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 255 ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทสหยนต์จำกัดได้กู้เงินโจทก์ไป ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสามเป็นผู้ค้ำประกัน บริษัทสหยนต์จำกัดค้างต้นเงินและดอกเบี้ยอยู่ ๕๘๔,๗๐๐ บาท และถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ดังกล่าว
จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า บริษัทสหยนต์จำกัด ชำระหนี้รายนี้แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด การเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เป็นการเรียกดอกเบี้ยทบต้น จึงเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การเรียกดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ และบริษัทสหยนต์จำกัดได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยนำสืบการใช้เงินกู้ด้วยเช็คไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ นั้น เห็นว่า การชำระหนี้เงินกู้ด้วยเช็ค เป็นการชำระหนี้ด้วยการออกตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๑ วรรค ๓ จึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๕๓ อ้างฎีกาที่ ๗๖๓/๒๕๐๕
ที่โจทก์ฎีกาว่าดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้ไม่เป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้มีข้อความ “การให้กู้และกู้ตามหนังสือนี้ ให้เป็นไปตามประเพณีผู้ให้กู้ ฉะนั้น หากผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนด ฯลฯ ผู้กู้ยินยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้าชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินทันทีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นดังว่ามานี้เป็นต้นเงินอันผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันและมีกำหนดชำระอย่างเดียวกัน” การกู้นี้ให้ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ฉะนั้น การคิดดอกเบี้ยทบต้นนี้จึงเป็นการให้คิดกันได้ทันทีที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ย เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๕ ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะ
ในข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาฟังเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืน.