คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัดโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยใช้เป็นที่จัดงานประเพณีของวัด ขณะที่ไม่มีงานโจทก์ก็ใช้เป็นที่จอดรถของผู้มาจ่ายตลาดและโจทก์เป็นผู้ดูแลรักษาความสะอาด แต่ที่ดินพิพาทมีบ่อน้ำ 2 บ่อ บ่อหนึ่งเป็นวงเวียนให้รถขับอ้อม อีกบ่อหนึ่งอยู่ติดกำแพงวัด ราษฎรได้ช่วยกันสร้างป้อมตำรวจคร่อมบ่อน้ำดังกล่าวไว้ โดยเรี่ยไรเงินมาทำ ซึ่งต่อมาสุขาภิบาลจำเลยได้ให้งบประมาณมาเทคอนกรีตในที่ดินพิพาทให้เป็นผืนเดียวกันกับถนนสาธารณะเพื่อใช้เป็นที่สัญจรและจอดรถ อันเป็นลักษณะยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะสละสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยายแล้ว วัดอุทิศที่ดินของวัดให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 หรือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 1 และเป็นนายอำเภอเถิน โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดและที่ดินซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2767 และ2780 และยังเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งตกสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีก 1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน ตารางวาซึ่งมีอาณาเขต ทิศเหนือติดถนนล้อมแรด – ป่าตาล ทิศใต้ติดถนนสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกติดถนนเถินบุรี ทิศตะวันตกติดกำแพงวัดโจทก์ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ที่ดินอำเภอเถินตรวจสอบแนวเขตและเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2767 ดังกล่าวผลการตรวจสอบปรากฏว่าทางด้านทิศเหนือมีความยาวเพียง 105.42 เมตร เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจรังวัดจากหมุดทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกเพียงถึงแนวกำแพงวัดไม่ได้รังวัดไปถึงปากบ่อน้ำซึ่งเป็นแนวเขตที่โจทก์และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนำชี้ทำให้ความยาวขาดหายไป 18.172 เมตร โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ที่ดินอำเภอเถินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่งตกสำรวจดังกล่าว แต่ทางที่ดินอำเภอเถินเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2529 โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปางขอให้รังวัดออกโฉนดที่ดินที่ตกค้างดังกล่าวแต่นายอำเภอเถินในฐานะผู้ปกครองท้องที่และในฐานะประธานกรรมการจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการรุกล้ำแนวเขตถนนเถินบุรี ซึ่งเป็นด้านข้างเคียงทางทิศตะวันออก จึงทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดให้โจทก์ เนื่องจากเห็นว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของโจทก์แต่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เทคอนกรีตทำถนนโดยไม่คัดค้านจึงฟังได้ว่าโจทก์อุทิศที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นทางหลวงโดยปริยายที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งความจริงโจทก์มิได้อุทิศหรือมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ผู้ใด ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ยกคำคัดค้านของจำเลยที่มีต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางและห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยเป็นทางสาธารณะถนนสายเถินบุรี และเป็นทางหลวงสุขาภิบาล ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยโจทก์ได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วในปี 2525 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับประชาชนในท้องที่เทคอนกรีตบนที่พิพาทจดกำแพงวัดโจทก์เพื่อให้เป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในเขตสุขาภิบาล จึงได้คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 38 ตารางวา ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2767ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ด้านทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทติดถนนสายเถินบุรี ตามสำเนาแผนที่เอกสารหมาย จ.26 (ล.3)เมื่อปี 2529 โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง แต่จำเลยที่ 1 และนายสุรชัย ธนานันท์นายอำเภอเถิน ในขณะนั้นยื่นคำคัดค้าน และข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของวัดโจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วหรือไม่ และการอุทิศเช่นนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น โจทก์มีเจ้าอธิการสีนุ่น สุทธลีโลนายคำตัน สุวรรณจันทร์ นายยง เสนาบุตร นายวัฒนา สิทธิวงศ์และนายทูล วิฑูรย์ เป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยใช้เป็นที่จัดงานประเพณีของวัดขณะที่ไม่มีงานโจทก์ก็ใช้เป็นที่จอดรถของผู้มาจ่ายตลาด และโจทก์เป็นผู้ดูแลรักษาความสะอาดส่วนจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 นายสมชายพาณิชย์พรพันธุ์ นายณัฐพงศ์ เปรมวุฒิ นายจันตา กาปิ่นตาและนายประหยัด ด่านจรูญ เป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า ที่ดินพิพาทมีบ่อน้ำ 2 บ่อ บ่อหนึ่งเป็นวงเวียนให้รถขับอ้อม อีกบ่อหนึ่งอยู่ติดกำแพงวัด ราษฎรได้ช่วยกันสร้างป้อมตำรวจคร่อมบ่อน้ำดังกล่าวไว้ โดยเรี่ยไรเงินจากธนาคารและร้านค้า ต่อมาราวปี 2526จำเลยที่ 1 ได้ให้งบประมาณมาเทคอนกรีตในที่ดินพิพาทให้เป็นผืนเดียวกันกับถนนสายเถินบุรีเพื่อใช้เป็นที่สัญจรและจอดรถเห็นว่าการเทคอนกรีตในที่ดินพิพาทให้เป็นผืนเดียวกับถนนสายเถินบุรีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการ มีการใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่จอดรถ ใช้บ่อน้ำเดิมเป็นวงเวียนให้รถอ้อม รวมทั้งสร้างป้อมตำรวจคร่อมบ่อน้ำไว้ในที่ดินพิพาทด้วยเป็นลักษณะการที่ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะสละสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยาย พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น เห็นว่าการอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นนี้มิได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 หรือพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น(ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 14) ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 947-958/2503ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดตรัง โจทก์ นายเค่ง แซ่เล้า จำเลย
พิพากษายืน

Share