คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5395/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง TIANDI ซึ่งเป็นการอนุญาตให้โจทก์แต่ผู้เดียวหรือโดยเด็ดขาด ในการฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในประเทศไทยรวมทั้งการนำไปผลิตเป็นโฮมวิดีโอในประเภทวิดีโอซีดีและดิจิตอลเวอร์แซทไทล์ดิสก์ ออกให้เช่าและขายด้วยตลอดระยะเวลา 60 เดือน อันเป็นลิขสิทธิ์บางส่วนในงานภาพยนตร์ การที่จำเลยทั้งสองนำภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องTIANDI ไปผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีออกจำหน่ายแก่ประชาชนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ในระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียน ณ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีนายพีรพล มนต์พิชิต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทไชน่าสตาร์อินเตอร์เนชั่นแนล ดีสตรีบิวชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน มีบริษัทสาขาหรือบริษัทลูกคือบริษัทไชน่าสตาร์ พิคเจอร์ส จำกัด ดำเนินธุรกิจแทนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์โดยเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุภาพยนตร์เรื่อง TIAN DI และมีการโฆษณาครั้งแรกที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งเดิมอยู่ในความปกครองของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ปัจจุบันอยู่ในความปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทย บริษัทไชน่าสตาร์ อินเตอร์-เนชั่นแนล ดิสตรีบิวชั่น จำกัด ได้ขายและโอนลิขสิทธิ์ของงานโสตทัศนวัสดุภาพยนตร์เรื่อง TIAN DI ที่บันทึกภาพและเสียงให้แก่โจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ใช้ชื่อภาพยนตร์เป็นภาษาไทยว่า “เจาะกะโหลกมาเฟียเซี่ยงไฮ้” จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2544 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ของโจทก์ โดยทำซ้ำดัดแปลง ผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อภาพยนตร์เป็นภาษาไทยว่า “ยอดคนแดนเถื่อน” การกระทำของจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากโจทก์และไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 16, 17, 19, 21, 27, 28,29, 31, 61, 70, 74 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 28(1), 69 วรรคสองให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี ปรับ 600,000 บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300,000บาท และจำเลยที่ 2 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 300,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีส่วนของจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นคนดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากบริษัทไชน่าสตาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสตรีบิวชั่น จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง TIAN DI ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License Agreement)พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.2 แต่ตามข้อตกลงอันเป็นเงื่อนไขของสัญญาเป็นการอนุญาตให้โจทก์แต่ผู้เดียวหรือโดยเด็ดขาด (Exclusive for the Term) ในการฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในประเทศไทย รวมทั้งการนำไปผลิตเป็นโฮมวิดีโอในประเภทวิดีโอซีดีและดิจิตอลเวอร์แซทไทล์ ดิสก์ ออกให้เช่าและขายด้วยตลอดระยะเวลา 60 เดือน นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2543 อันเป็นลิขสิทธิ์บางส่วนในงานภาพยนตร์ การที่จำเลยทั้งสองได้นำภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่อง TIAN DI ไปผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีออกจำหน่ายแก่ประชาชนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ในระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาท และส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปีและปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share