คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าตามระเบียบของกรมชลประทานจำเลย การที่จะนำรถยนต์คันเกิดเหตุขับออกไปข้างนอกได้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเสียก่อนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาคนใดเป็นผู้เก็บกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุที่ ท.ต้องนำคำอนุมัติการใช้รถยนต์ไปเสนอแล้วจึงขอรับกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุ การที่จำเลยมอบการครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุและกุญแจของรถยนต์คันเกิดเหตุให้ ท.ซึ่งทำให้ ท.พร้อมที่จะขับรถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาเช่นนี้แสดงว่าจำเลยได้อนุญาตให้ ท.ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว ดังนั้นที่ ท.ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากกรมชลประทานสามเสนไปแล้วไปชน ศ.ตาย แล้วขับรถยนต์คันเกิดเหตุเข้ามากรมชลประทานสามเสนเหมือนเดิม โดยไม่ว่าในการขับรถยนต์คันเกิดเหตุจะเป็นความประสงค์ของ ท.เองหรือพนักงานของกรมชลประทานคนใดของจำเลยก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยได้อนุญาตให้ ท. กระทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของ ท.ดังกล่าวจึงถือว่ากระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยแล้ว
โจทก์ที่ 1 เพิ่งรู้ว่า ท.เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยชนผู้ตายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 โจทก์ที่ 1 จึงได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน-ตำรวจในวันที่ 28 เมษายน 2531 จึงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 28 เมษายน 2531 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ในวันที่ 11 เมษายน 2532 จึงไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ

Share