แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503 ได้บัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรขาเข้าสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กับเครื่องวิทยุส่งกระจายเสียงไว้แตกต่างกันอย่างละประเภทกล่าวคือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 85.01 อัตราอากรราคาร้อยละ 11 ส่วนเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงอยู่ในพิกัดประเภท 85.15 อัตราอากรตามราคาร้อยละ 5.5 แม้ตามคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรที่กรมศุลกากรโจทก์จัดพิมพ์ขึ้นจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับเครื่องจักรไฟฟ้าบางชนิดซึ่งอยู่ในพิกัดของตอนที่ 85 ว่า อาจประกอบด้วยยูนิตต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันเช่น เครื่องส่งวิทยุและเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกันก็ตาม แต่เครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าก็เป็นเครื่องมือสำหรับจ่ายกำลังงานส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นเป็นเครื่องที่ก่อให้เกิดกำลังงาน จึงมิใช่ของอย่างเดียวกันเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าตามตัวอย่างดังกล่าวจึงไม่คลุมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วย และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามิใช่ส่วนหนึ่งหรือส่วนประกอบของเครื่องส่งวิทยุ เพราะเครื่องส่งวิทยุที่มีอุปกรณ์ครบชุด ต้องการเพียงกระแสไฟฟ้าพลังงานซึ่งอาจได้มาจากไฟฟ้าของทางราชการ หรือจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็สามารถทำการออกอากาศได้ ดังนั้น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรแม้นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องส่งวิทยุ หรือทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะใช้กับเครื่องส่งวิทยุก็ต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 85.01ข. (3)(ก) อัตราร้อยละ 11 ของราคา มิใช่พิกัดประเภทที่ 85.15 ก อัตราร้อยละ 5.5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารวม3 เครื่อง โดยสำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นส่วนของเครื่องวิทยุจำนวน3 ชุด เสียอากรขาเข้าในพิกัด 85.15 ก. อัตราค่าอากร 5.5 เปอร์เซนต์ ต่อมาจำเลยตรวจพบว่าสินค้านั้นเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 85.01 ข. (3)(ก) อัตราค่าอากร 11 เปอร์เซนต์ จำเลยจึงชำระค่าอากรขาดไป 125,520 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่พิพาทเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ต้องเสียภาษีในพิกัด 85.15 ก. ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระอากรขาเข้าให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ได้บัญญัติพิกัดอัตราอากรขาเข้าไว้ในภาค 2 ที่เกี่ยวกับสินค้ารายพิพาทนี้อยู่ในหมวด 16 ตอนที่ 85 เครื่องกลจักรไฟฟ้าและเครื่องไฟฟ้า รวมทั้งส่วนและส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าว ประเภทที่ 85.01 เครื่องไฟฟ้าต่อไปนี้คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์เครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้า (คอนเวอร์ตเตอร์) (ทั้งชนิดหมุนและชนิดที่อยู่คงที่) หม้อแปลงไฟ เครื่องกลับกระแสไฟ (เรคติไฟออร์) เครื่องช่วยเครื่องกลับกระแสไฟ เครื่องคลุมกระแสไฟ ก. มอเตอร์ ฯลฯ ข. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ฯลฯ (3) อื่น ๆ (ก) ครบชุดสมบูรณ์ อัตราอากรตามราคาร้อยละ 11 ส่วนเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงนั้นกำหนดไว้ในประเภทที่ 85.15 ว่าด้วยเครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุโทรเลขและวิทยุโทรศัพท์ เครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ (รวมทั้งเครื่องดังกล่าวที่มีเครื่องเล่นจานเสียงประกอบอยู่ด้วย) ฯลฯ ก. เครื่องวิทยุ โทรเลข เครื่องวิทยุโทรศัพท์ เครื่องส่งวิทยุ เครื่องส่งโทรทัศน์ และกล้องถ่ายโทรทัศน์ รวมทั้งส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าวอัตราอากรตามราคาร้อยละ 5.5 ตามพระราชกำหนดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าได้บัญญัติพิกัดอัตราอากรขาเข้าสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงไว้แตกต่างกันอย่างละประเภท
ที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาทเป็นเครื่องจักรไฟฟ้า อันเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องส่งวิทยุ เพราะถ้าเครื่องส่งวิทยุขาดกระแสไฟฟ้าก็เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้ว ก็จะทำการกระจายเสียงออกอากาศไม่ได้และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกันกับเครื่องส่งวิทยุ จึงต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดเดียวกับเครื่องส่งวิทยุคือประเภทที่ 85.15 ก. อัตราร้อยละ 5.5 โดยอ้างหนังสือคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรที่โจทก์จัดพิมพ์จำหน่ายตามเอกสารหมาย ล.14 หน้า 924 ซึ่งคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษมีคำแปลว่า”(บี) เครื่องซึ่งประกอบด้วยยูนิตต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกัน เครื่องจักรไฟฟ้าบางชนิดซึ่งอยู่ในพิกัดของตอนที่ 85 ประกอบด้วยปริมาณของยูนิตต่าง ๆ ที่แยกกันอยู่ โดยออกแบบมาใช้งานร่วมกัน และเมื่อต่อสายไฟถึงกันแล้วจะเป็นเครื่องจักรไฟฟ้าครบชุดชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่ายูนิตต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ได้รวมอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน ก็ให้ถือว่ายูนิตต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่ในประเภทพิกัดเดียวกัน ถ้าหากว่าเครื่องจักรไฟฟ้าที่ประกอบขึ้นด้วยยูนิตต่าง ๆ นี้เป็นเครื่องจักรที่อยู่ในประเภทพิกัดของตอนที่ 85 ด้วย ยกตัวอย่างในกรณีนี้เช่น 1. เครื่องเชื่อมไฟฟ้า ประกอบด้วยหม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟ้ฟ้า หรือเครื่องกลับกระแสไฟฟ้า และหัวเชื่อมไฟฟ้าหรือปากคีบ 2. เครื่องส่งวิทยุและเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกัน เครื่องขยายเสัยง ฯลฯ 3. เครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์แบบเคลื่อนที่ และไมโครโฟนแบบมือถือที่ใช้ร่วมกัน 4. เครื่องเรดาร์และเครื่องรับพร้อมเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกัน เครื่องขยายเสียง ฯลฯ 5. สัญญาณโจรกรรมซึ่งประกอบด้วยหลอดอินฟาเรดโฟโตเซลล์ กระดิ่ง ฯลฯ ถ้าหากว่ายูนิตที่กล่าวแล้วนี้นำเข้าพร้อมกัน ให้จัดเข้าในประเภทเครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องส่งวิทยุ เครื่องเรดาร์ เครื่องสัญญาณโจรกรรม ฯลฯ ถึงแม้ว่ายูนิตต่าง ๆ เหล่านี้แยกกันนำเข้า เช่นหม้อแปลงไฟฟ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า เครื่องกลับกระแสไฟฟ้า สัญญาณโจรกรรม หลอดอินฟาเรด โฟโตเซลล์ กระดิ่ง ฯลฯ ให้จัดเข้าในประเภทของเหล่านั้น”
ตามตัวอย่างที่ให้ไว้ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าคงมีแต่เครื่องเชื่อมไฟฟ้าตามตัวอย่างที่ 1 เท่านั้นที่ระบุถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนอีก 4 ตัวอย่างหาได้ระบุถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยไม่ โดยเฉพาะเครื่องส่งวิทยุตามตัวอย่างที่ 2 ก็ระบุถึงแต่เครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า”แอสโซซิเอเต็ด พาวเวอร์ แพกส์” (Associated power packs) ตามหนังสือของคณบดีคณะวิศวรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงอธิบดีกรมศุลกากร เรื่องการพิจารณาเครื่องกำเนิดไฟ้ฟ้า เอกสารหมาย ล.15 ที่จำเลยอ้าง ก็ได้อธิบายความหมายของคำดังกล่าวไว้ว่า ในที่นี้หมายความถึงชุดของชิ้นส่วนหรือเครื่องมือซึ่งต้องใช้สำหรับจ่ายกำลังงานให้กับส่วนต่าง ๆ ของวงจรไฟฟ้าในอุปกรณ์การส่งวิทยุกระจายเสียง ซึ่งคำอธิบายนี้ก็ตรงกับบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ของนายเกียรติทวีพยานโจทก์ นักวิชาการภาษีเอก กองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร ผู้สำเร็จวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกลและสาขาวิชาการไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เสนอโจทก์ว่าเพาว์เวอร์ แพคส์เป็นเครื่องอย่างหนึ่งที่จ่ายกำลังงานไฟฟ้าให้แก่ส่วนต่าง ๆ ของวงจรไฟฟ้า ซึ่งอาจจะใช้ในการส่งวิทยุ ส่งเรดาร์ ดังนี้ เครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับจ่ายกำลังงานกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดกำลังงานจึงมิใช่ของอย่างเดียวกันเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าตามตัวอย่างที่ 2 จึงมิได้คลุมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วย และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามิใช่ส่วนหนึ่งหรือส่วนประกอบของเครื่องส่งวิทยุ เพราะเครื่องส่งวิทยุที่มีอุปกรณ์พร้อมครบชุดอย่างในคดีนี้ต้องการเพียงกระแสไฟฟ้าพลังงาน ซึ่งอาจได้มาจากไฟฟ้าของทางราชการหรือจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็สามารถทำการออกอากาศได้ ฉะนั้น เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาทแม้นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องส่งวิทยุ ก็ต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 85.01 ข.(3)(ก)อัตราร้อยละ 11 ของราคา
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาซื้อขายเครื่องส่งวิทยุที่จำเลยทำกับกรมประชาสัมพันธ์ ได้กำหนดรายละเอียดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ด้วย เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาทออกแบบมาใช้ร่วมกันกับเครื่องส่งวิทยุตามหนังสือของคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกสารหมาย ล.15 ได้รับรองว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาทเหมาะสมสำหรับใช้กับเครื่องส่งวิทยุ ทั้งขณะทำสัญญาซื้อขายและติดตั้งเครื่องส่งวิทยุ ยังไม่มีกระแสไฟฟ้าของทางราชการใช้ ณ สถานที่ตั้งสถานีแสดงว่ามีเจตนาจะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาท ปัจจุบันแม้จะมีกระแสไฟฟ้าของทางราชการใช้ ก็ไม่ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาทลดความสำคัญลงไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญอันจะเป็นเหตุทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารายพิพาทซึ่งฟังว่าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 85.01 ข.(3)(ก) ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว เปลี่ยนเป็นอยู่ในพิกัดประเภทที่ 85.15 ก. ดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน