คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า เด็กทั้งสามเป็นบุตรนายหร่ำสามีโจทก์ผู้วายชนม์ไปแล้ว แต่หากได้บรรยายไว้ชัดแจ้งด้วยว่าเด็กทั้งสามซึ่งเกิดแต่นายหร่ำผู้วายชนม์ เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิสืบมรดกของนายฉิม นางแสงตามลำดับสายตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง และในบัญชีเครือญาติก็ทำเครื่องหมายไว้ที่ท้ายชื่อโจทก์ ซึ่งตรงกับเครื่องหมายที่หมายเหตุข้างล่างนั้นว่า “ฯลฯ สมรสภายหลังเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และไม่ได้จดทะเบียนสมรส” ดังนี้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ประสงค์จะนำสืบว่าผู้เยาว์เหล่านั้นเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิสืบมรดกของนายฉิม นางแสงตามลำดับสายในบัญชีเครือญาติได้โดยเหตุผลประการใด เช่น นำสืบว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยมาตรา 1524,1526 หรือ 1529 (5) หรือเป็นบุตรที่บิดาได้รับรองแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหร่ำตามมาตรา 1627 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีสิทธิสืบมรดกนายฉิม นางแสงตามลำดับเครือญาติได้ตามมาตรา 1629 (1) และที่โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าผู้เยาว์ดังกล่าวไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหร่ำนั้น ก็แถลงไปตามเหตุที่ว่า นายหร่ำกับนางเปรมโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันดังที่หมายเหตุไว้ในบัญชีเครือญาติแล้วนั่นเอง หาใช่แถลงเพื่อสละสิทธิที่จะนำสืบข้อเท็จจริงให้ได้ตามความนัยแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายเรียม เด็กหญิงริน เด็กชายประยงค์ ซึ่งเกิดแก่นายหร่ำสามีผู้วายชนม์แล้ว เด็กทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิสืบมรดกของนายฉิม นางแสงตามลำดับปรากฏตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง ที่นาโฉนดที่ ๘๒๐๖ เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ภายในอาญาเขตเส้นสีแดงตกทอดทางมรดกแก่นายหร่ำสามีโจทก์ สามีโจทก์ตาย ที่ดินดังกล่าวตกได้แก่บุตรโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ ๑ ได้แสดงหลักฐานเท็จเพื่อให้เจ้าพนักงานฯ โอนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากนายฉิม นางแสงมาเป็นชื่อจำเลยที่ ๑ เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงจัดการโอนให้จำเลยที่ ๑ ไปทั้งโฉนด โดยโอนส่วนที่เป็นของบุตรโจทก์ไปด้วย ต่อมาจำเลยที่ ๑ จัดการจดทะเบียนสิทธิให้กับบุตรของตนคือ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมด้วย ที่ดินโฉนดนี้ตามอาณาเขตเส้นสีแดง เนื้อที่ ๒๑ ไร่ จึงยังเป็นของโจทก์อยู่ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นของบุตรโจทก์ตามอาณาเขตสีแดง เนื้อที่ ๒๑ ไร่ จึงยังเป็นของโจทก์อยู่ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดนี้เฉพาะส่วนที่เป็นของบุตรโจทก์ตามอาณาเขตสีแดง เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ขอให้สั่งถอนชื่อจำเลยทั้ง ๔ คนออกจากโฉนดที่ดินแปลงนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นของบุตรโจทก์ และจดชื่อบุตรโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิร่วมกันต่อไป ฯลฯ
จำเลยทั้ง ๔ ให้การว่า ที่ดินโฉนดที่ ๘๒๐๖ ทั้งแปลง นายฉิม นางแสงยกให้แก่นายร่มสามีจำเลยที่ ๑ ผู้เดียว นายร่มครอบครองโดยสงบ เจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกวา ๑๐ ปี นายร่มตาย จำเลยที่ ๑ ครอบครองที่ดินโฉนดที่ ๘๒๐๖ มาโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา จำเลยที่ ๑ จัดการถอนชื่อนายฉิม นางแสงออกจากโฉนดแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ลงชื่อในโฉนดร่วมด้วย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดก ฯลฯ
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงโจทก์ โจทก์แถลงว่าเด็กทั้งสามไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหร่ำ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานโจทก์ เห็นว่า เด็กทั้งสามไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหร่ำ ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหร่ำ ฯลฯ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยทั้ง ๔ คนฎีกา
จำเลยฎีกาว่า หากโจทก์มีความประสงค์จะนำสืบว่าเด็กทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๔, ๑๕๒๙ ก็จะต้องแถลงข้อความที่ประสงค์จะนำสืบไว้ให้ชัดแจ้ง หรือมิฉะนั้นก็จะต้องบรรยายข้อความละเอียดไว้ในคำฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้สละสิทธิ์ที่จะสืบเช่นนั้น เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าเด็กทั้งสามเป็นบุตรนายหร่ำ แต่หากบรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งด้วยว่า เด็กผู้เยาว์ทั้งสามคนซึ่งเกิดแต่นายหร่ำเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิสืบมรดกของนายฉิม นางแสงตามลำดับสายตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง และในบัญชีเครือญาติก็ได้ทำเครื่องหมายไว้ที่ท้ายชื่อนางเปรม ซึ่งต่างกับเครื่องหมายที่หมายเหตุข้างล่างนั้นว่า “ฯลฯ สมรสภายหลังเมื่อใช้กฎหมายแพ่งฯ และไม่ได้จดทะเบียนสมรส” ดังนี้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า โจทก์ประสงค์จะนำสืบว่าผู้เยาว์เหล่านั้นเป็นทายาทโดยธรรม และมีสิทธิสืบมรดกของนาบฉิม นางแสงตามลำดับสายในบัญชีเครือญาติได้โดยเหตุผลกระการใด เช่น นำสืบว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามนัยแห่งมาตรา ๑๕๒๕,๑๕๒๖ หรือ ๑๕๒๙ (๕) หรือเป็นบุตรที่บิดาได้รับรองแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหร่ำตามมาตรา ๑๖๒๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีสิทธิสืบมรดกของนายฉิม นางแสงตามลำดับเครือญาติได้ตามมาตรา ๑๖๒๙(๑) แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน ดังนี้เป็นต้น และที่โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าผู้เยาว์ดังกล่าวไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหร่ำนั้น ก็แถลงไปตามเหตุที่ว่านายหร่ำกับนางเปรยโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันดังที่หมายเหตุไว้ในบัญชีเครือญาติแล้ว นั้นเอง หาใช่แถลงเพื่อสละสิทธิที่จะนำสืบข้อเท็จจริงให้ได้ตามนัยแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ ฯลฯ
พิพากษายืน.

Share