แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการธนาคาร และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้ตกแก่จำเลย แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ว่าเป็นเช่นใดนั้นยังจำต้องรับฟังจากพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบด้วยว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนและให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในภายหลัง อีกทั้งโจทก์ก็ได้ถามค้านให้พยานจำเลยมีโอกาสอธิบายและนำสืบถึงรายละเอียดและข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทแล้ว ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่นำสืบในส่วนนี้โดยครบถ้วนและได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้วโดยฟังว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอันเกิดจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายโดยแท้ว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดน่าเชื่อถือกว่ากันหรือนำสืบสมข้ออ้างหรือไม่ หาใช่เป็นการวินิจฉัยโดยผลักภาระการพิสูจน์ให้ตกแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 209,784,221.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 99,306,140.54 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 108,039,639.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 99,306,140.54 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2553) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 70,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 โจทก์ ได้เปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์บัญชีเลขที่ 208-003xxx-x และบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 208-300xxx-x กับจำเลยที่สาขาบางกรวย โดยตกลงว่า หากมีเช็คของโจทก์มาเรียกเก็บเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่บัญชีดังกล่าวมีเงินไม่พอจ่ายตามเช็ค ให้จำเลยนำเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อจ่ายเงินตามเช็คที่เรียกเก็บได้ ต่อมาโจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันรวม 3 ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2534 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2537 การเดินบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 208-003xxx-x มีการฝาก ถอน และโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 208-300xxx-x จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2537 ไม่มีเงินเหลือในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ดังกล่าว ในปี 2546 จำเลยเคยฟ้องโจทก์เรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว
สำหรับการถอนเงินนั้น โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในหน้าที่ 9 ถึงหน้าที่ 14 เป็นการวินิจฉัยในทำนองให้โจทก์เป็นผู้มีภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจย่อมมีภาระการพิสูจน์ และหากวินิจฉัยไปตามภาระการพิสูจน์ดังกล่าวคดีย่อมฟังได้ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการธนาคาร ซึ่งให้บริการแก่ลูกค้าในการรับฝากและเบิกถอนเงิน และบทบัญญัติในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่าให้ภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้ตกแก่จำเลยก็ตาม แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทว่าเป็นเช่นใดนั้น ยังจำต้องรับฟังจากพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบด้วยว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในภายหลัง อีกทั้งโจทก์ก็ได้ถามค้านให้พยานจำเลยมีโอกาสอธิบายและนำสืบถึงรายละเอียดและข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทนั้นโดยบริบูรณ์แล้ว ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบในส่วนนี้โดยครบถ้วนและได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลทุกประการแล้ว โดยฟังว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เนื่องจากเอกสารการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (Statement of Current Account) เอกสารหมาย ล.17 ที่โจทก์อ้างส่งสนับสนุนคำเบิกความของตัวโจทก์นั้นเป็นการเดินบัญชีตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 เป็นต้นไป ดังนั้นเอกสารหมาย ล.17 จึงมิใช่หลักฐานทั้งหมดที่แสดงการโอนเงินระหว่างบัญชีทั้งสองประเภทของโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ตกลงให้มีการโอนเงินระหว่างบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์กับบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตั้งแต่วันเปิดบัญชีในปี 2533 ดังนั้นเอกสารหมาย ล.17 จึงเป็นหลักฐานที่แสดงการรับโอนเงินจากบัญชีสะสมทรัพย์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 เป็นต้นไปเท่านั้น ในขณะที่จำเลยมีเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นเอกสารการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันในปี 2534 เป็นพยาน แม้จำเลยจะไม่เคยอ้างส่งเอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานในคดีเดิม ก็ไม่ทำให้เอกสารหมาย ล.3 ไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ เพราะในเอกสารหมาย ล.3 แผ่นสุดท้ายแสดงยอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2534 จำนวน 118.08 บาท ตรงกับเอกสารหมาย จ.17 แผ่นแรก ที่แสดงยอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2534 จำนวน 118.08 บาท เช่นกัน แสดงให้เห็นว่าการเดินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.17 และเอกสารหมาย ล.3 ต่อเนื่องกัน เมื่อเปรียบเทียบการเดินบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เอกสารหมาย จ.15 กับการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.3 และ จ.17 แล้วพบว่า ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาจนถึงวันที่บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์มียอดเงินคงเหลือเป็น 0.00 บาท มีรายการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์โดยการโอน และในวันเดียวกันมีเงินจำนวนเท่ากันฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน โดยการโอนรวม 174 รายการ มีรายการซึ่งในสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.15 ลงรายการตัวอักษรย่อ “W/D” หมายถึงการถอนเงินสด รวม 24 ครั้ง ส่วนรายการถอนเงินตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2533 เป็นการถอนที่ลงรายการในสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.15 ด้วยอักษรย่อที่หมายถึงการถอนโดยการโอน แม้ว่าจำเลยจะไม่มีเอกสารการเดินบัญชีกระแสรายวันมายืนยันว่า การถอนโดยการโอนในปี 2533 เป็นการโอนไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ตามข้อตกลงขณะเปิดบัญชีก็ตาม แต่อักษรย่อที่ใช้ในการลงรายการเหมือนกับการลงรายการโอนในปี 2534 เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อตกลงและวัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชีสะสมทรัพย์กับบัญชีกระแสรายวันแล้ว เชื่อว่าเป็นการโอนไปยังบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ตามที่จำเลยนำสืบ แม้จำเลยจะไม่มีหลักฐานการถอนเงินหรือการโอนเงินมาเป็นพยานก็ไม่ทำให้ข้อนำสืบของจำเลยรับฟังไม่ได้ เนื่องจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของโจทก์เดินบัญชีอยู่ระหว่างเดือนกันยายน 2533 ถึงเดือนมีนาคม 2537 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในปี 2553 เป็นระยะเวลาเกือบยี่สิบปีนับแต่วันที่หยุดเดินบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ จึงเกินกว่าระยะเวลา 10 ปี ที่จำเลยจะจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันส่วนใหญ่เป็นการโอนโดยไม่มีสมุด ไม่มีใบถอน ดังนั้นการไม่มีเอกสารเกี่ยวกับการโอนมายืนยันก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานอื่นของจำเลยรับฟังไม่ได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยซ้ำอีก และยังเห็นอีกด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอันเกิดจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายโดยแท้ว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดน่าเชื่อถือกว่ากันหรือนำสืบสมข้ออ้างหรือไม่ หาใช่เป็นการวินิจฉัยโดยผลักภาระการพิสูจน์ให้ตกแก่โจทก์ดังที่เข้าใจไม่ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยน่าเชื่อถือมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งถูกต้องตามหลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งและคดีผู้บริโภคแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน โจทก์เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จึงให้คืนค่าส่งคำคู่ความชั้นฎีกาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ