คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีตาม ป.อ.มาตรา 180 หรือไม่ ความผิดฐานดังกล่าวโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้จึงมีผลเป็นการสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1เท่านั้น
การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์ผิดสัญญาซื้อขาย ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1531ให้แก่จำเลย และจำเลยอ้างส่งสัญญาซื้อขายต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งดังกล่าวนั้นแม้จำเลยอ้างว่าการเบิกความเป็นพยานและการส่งสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยกระทำต่อศาลชั้นต้น มิใช่กระทำต่อโจทก์ก็ตาม แต่คดีแพ่งดังกล่าวโจทก์ถูกจำเลยฟ้องโจทก์จึงเป็นคู่ความในคดีด้วย และสัญญาซื้อขายตามที่จำเลยอ้างส่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโจทก์ การที่จำเลยนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรงเช่นนี้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี เพราะอาจมีผลให้โจทก์ถูกบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องจำเลยตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๘๔, ๘๖, ๙๐, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ และ ๑๘๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ ๑ส่วนจำเลยที่ ๒ มีมูลเฉพาะข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิให้ประทับฟ้อง และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๑๘๐ วรรคแรก, ๘๓ จำเลยที่ ๒มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๙๑ ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๖ เดือน ฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี จำคุก ๖ เดือน ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำคุก ๖ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อปี ๒๕๓๓โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตกลงเจรจาเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ตามใบจอง(น.ส.๒) เลขที่ ๒๓ วันนั้นจำเลยที่ ๑ ตกลงจะซื้อที่ดินดังกล่าวของโจทก์และชำระเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ไว้เป็นมัดจำ โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายในสัญญาซื้อขายซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความให้จำเลยที่ ๑ ยึดไว้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ บอกให้จำเลยที่ ๒ กรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวว่า โจทก์ผู้ขายได้ขายที่ดินตามใบจอง (น.ส.๒) เล่มที่ ๔ หน้า ๕สารบบเล่ม หมู่ที่ ๘ หน้าเลขที่ ๒๓ จำนวน ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวาโดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ผู้ซื้อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่วันที่๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ในวันทำสัญญานี้โจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อขอออก น.ส.๓ ก. เมื่อออก น.ส.๓ ก.แล้วผู้ขายจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ภายในกำหนด ๑๕ วัน นับจากหลักฐาน น.ส.๓ ก.ได้ออกแล้ว ข้อความดังกล่าวผิดไปจากที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงกัน วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๕๓๑ แทนใบจอง(น.ส.๒) เลขที่ ๒๓ ให้แก่โจทก์ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ จำเลยที่ ๑นำสัญญาซื้อขายฉบับซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันทำปลอมขึ้นไปขออายัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๕๓๑ ของโจทก์ที่สำนักงานที่ดินอำเภอภูกระดึง เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอภูกระดึงมีคำสั่งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าวครั้นวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์ผิดสัญญาซื้อขายและขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๕๓๑ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๑พฤษภาคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวพร้อมทั้งอ้างส่งสัญญาซื้อขายต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายเป็นเอกสารปลอมและพิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๓/๒๕๓๕ ของศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
สำหรับคดีนี้เนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เฉพาะข้อ ๒.๓ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ หรือไม่ ความผิดฐานดังกล่าวโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เท่านั้นมิได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ข้อนี้จึงมีผลเป็นการสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ ๑ เพราะจำเลยที่ ๒ มิได้ถูกฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานนี้ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในการพิจารณาคดีและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งที่จำเลยที่ ๑ คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์คดีนี้ผิดสัญญาซื้อขาย ขอให้บังคับโจทก์คดีนี้จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่๑๕๓๑ ให้แก่จำเลยที่ ๑ คดีนี้ และจำเลยที่ ๑ อ้างส่งสัญญาซื้อขายต่อศาลชั้นต้นนั้นแม้จำเลยที่ ๑ อ้างว่าการเบิกความเป็นพยานและการส่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวจำเลยที่ ๑ กระทำต่อศาลชั้นต้น มิใช่กระทำต่อโจทก์ก็ตาม แต่คดีดังกล่าวโจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ฟ้อง โจทก์จึงเป็นคู่ความในคดีด้วยและสัญญาซื้อขายตามที่จำเลยที่ ๑อ้างส่ง ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโจทก์การที่จำเลยที่ ๑ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรงเช่นนี้โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี เพราะอาจมีผลให้โจทก์ถูกบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) และมาตรา ๒๘ (๒)
พิพากษายืน.

Share