คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 เป็นเรื่องระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ใช่อายุความ
โจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดี โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย และกรณีไม่อาจนำเรื่องการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/24 มาใช้บังคับได้ การที่จำเลยทำหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยภายหลังครบกำหนดเวลาบังคับคดี จึงไม่ใช่การสละประโยชน์แห่งอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2534 จำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความโดยมีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษากับโจทก์เดือนละ 500 บาทในวงเงิน 67,500 บาท โจทก์ตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ได้แต่จำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 86,099.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,612 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ 13664/2523ซึ่งถึงที่สุดแล้วให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 67,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขออกคำบังคับและหมายบังคับคดีแล้วแต่ไม่สามารถสืบหาทรัพย์สินของจำเลยได้ จนล่วงเลยเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13พฤศจิกายน 2523 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาในวงเงิน67,500 บาท เป็นรายเดือนเดือนละ 500 บาท จนกว่าจะครบ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความและจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือนี้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย กำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวเป็นเรื่องระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่ใช่อายุความไม่อาจนำเรื่องการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 มาใช้บังคับได้หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยจึงไม่ใช่การสละประโยชน์แห่งอายุความ”

พิพากษายืน

Share