แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบกทางน้ำและทางระบายน้ำตามมาตรา 66(2)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติให้จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ดังนั้นการดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
การเวนคืนที่ดินของโจทก์ในคดีนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ … พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม… พ.ศ. 2516แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินและต้นไม้ของโจทก์ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขแล้วทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์…พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม มาตรา 21 วรรคหนึ่งนี้ ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) นั้น ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม
สำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์.. พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แล้ว แต่กลับปรากฏว่าฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.1 การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ และปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นการที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง(4) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
สำหรับคดีนี้คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบ การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5)เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ และนำราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 11เมษายน 2528 ราคาตารางวาละ 35,000 บาท ซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดมาเปรียบเทียบกับบัญชีราคา ประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินฯ ในปี 2528 ตารางวาละ 10,000 บาท อัตราส่วนราคาประเมินฯ ต่อราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจึงเท่ากับ 10,000 ต่อ 35,000 ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531-2534 อัตราเฉลี่ยตารางวาละ 12,961.16 บาท เมื่อนำอัตราส่วนดังกล่าวมาเปรียบเทียบแล้วราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจะเท่ากับตารางวาละ 45,364.06 บาท ซึ่งใกล้เคียงอย่างยิ่งกับราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 45,000 บาท จึงเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์วิธีการและจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งชอบด้วยความมุ่งหมายหลักของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แล้ว
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน…และวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้าม หากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้น ราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสาม ใช้ไม่ได้ หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้ว จำเลยทั้งสองและศาลย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับได้
เมื่อศาลได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนโดยถือเอาราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปีใดแล้ว ราคาของที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจึงต้องถือตามราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปีนั้นด้วย
เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9226 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 20ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการ วันที่ 11 ตุลาคม 2516 ทางราชการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เพื่อสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินโฉนดเลขที่9226 ของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื้อที่ 3 งาน 9 ตารางวา เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 12,961.16 บาท เป็นเงิน 4,005,000 บาท แต่เนื่องจากที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นอันเป็นผลจากการเวนคืนตัดถนนต้องนำราคาที่สูงขึ้นหักจากเงินค่าทดแทน เมื่อคำนวณหักกันแล้วไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ คำวินิจฉัยและการกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวเป็นการไม่ถูกต้องค่าทดแทนตารางวาละ 12,961.16 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะที่ดินของโจทก์อยู่ในย่านเจริญ มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในปี 2533 ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 100,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ 50,000 บาท การตัดถนนเวนคืนไม่ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เพราะที่ดินโจทก์ติดถนนอยู่ก่อนแล้ว ในทางกลับกันการเวนคืนตัดถนนทำให้ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เหลือเพียง2 งาน 11 ตารางวา มีลักษณะแคบยาวไม่สามารถทำประโยชน์ได้เต็มที่เพราะมีระเบียบของราชการกำหนดว่า การสร้างอาคารต้องร่นเข้ามาจากแนวถนน เมื่อถูกตัดถนนผ่านอีก1 สาย ทำให้ต้องร่นเข้ามาทั้งสองด้านและขาดบรรยากาศที่สงบ จึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากการเวนคืนตัดถนนและไม่อาจนำราคาดังกล่าวมาหักออกจากค่าทดแทนเวนคืน ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน 3 งาน 9 ตารางวาค่าทดแทนตารางวาละ 50,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทน 15,450,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนมีไม้ยืนต้นจำนวน 5 ต้น ปลูกอยู่ รวมราคาเป็นเงิน 49,000 บาทจำเลยทั้งสองไม่ได้กำหนดค่าทดแทนไม้ยืนต้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ ผลการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำของจำเลยที่ 1 ทำให้เมื่อมีการสร้างอาคารต้องถอยร่นจากด้านหน้าถนนเข้ามา 28 ตารางวา ตามระเบียบของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์เสียหายอีก1,400,000 บาท รวมเป็นค่าทดแทนทั้งสิ้น 16,899,000 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งค่าทดแทน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ส่งมอบที่ดินที่เวนคืนให้แก่จำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2534 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ จึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินจากเงิน 16,899,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 687,534.65 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 17,586,534.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ13.75 ต่อปี จากเงิน 16,899,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 การเวนคืนที่ดินและการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นเพียงหน่วยงานผู้ดำเนินงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามสายงานเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองดำเนินการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนครพ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 ตามขั้นตอนของกฎหมายหลังจากมีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้ว กระทรวงมหาดไทยได้มีมติให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบดำเนินการเวนคืนแทนกรมโยธาธิการ จำเลยที่ 1 ได้รับมอบงานจากกรมโยธาธิการเมื่อวันที่ 19ธันวาคม 2528 ต่อมาในปี 2530 มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2530 ยกเลิกคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินที่ตั้งขึ้นโดยอาศัยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้จ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่มีผลบังคับใช้ในปี 2531 ตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นทำเลที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ทำเลการค้าหรือย่านการค้า และตั้งอยู่ลึกสุดซอยขณะเวนคืนโจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน 309 ตารางวา แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเนื้อที่ 219 ตารางวา ราคาตารางวาละ 15,000 บาท ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 90 ตารางวา ราคาตารางวาละ8,000 บาท คิดเป็นเงินค่าทดแทนรวม 4,005,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือ211 ตารางวา มีราคาก่อนเวนคืนตัดถนนส่วนแรกเนื้อที่ 140 ตารางวา ราคาตารางวาละ15,000 บาท ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 71 ตารางวา ราคาตารางวาละ 8,000 บาท มีราคารวม2,668,000 บาท เมื่อตัดถนนใหม่แล้วด้านหน้าของที่ดินส่วนที่เหลือติดถนนเป็นแนวยาวทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นตารางวาละ 40,000 บาท ที่ดินส่วนที่เหลือจะมีราคา 8,440,000 บาท สูงกว่าเดิม 5,772,000 บาท เมื่อนำไปหักกลบกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วจึงเกลื่อนกลืนกันไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ กรณีที่โจทก์จะก่อสร้างอาคารในที่ดินโดยต้องถอยร่นจากหน้าถนนเข้ามา 28 ตารางวานั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ ที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนไม่มีไม้ยืนต้น แม้จะมีอยู่จริงราคาต้นไม้ตามฟ้องก็สูงเกิน รวมแล้วมีราคาไม่เกิน 1,300 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 10,367,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19ของพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติให้จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ดังนั้นการดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้โจทก์ในราคาตารางวาละ 45,000 บาท เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าการเวนคืนที่ดินของโจทก์ในคดีนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลมอำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรีอำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆแขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินและต้นไม้ของโจทก์ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขแล้วทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่งและเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่าเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม มาตรา 21 วรรคหนึ่งนี้ ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) นั้น ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แล้ว แต่กลับปรากฏว่าฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.1 การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ดังนั้นการที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าการกำหนดค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงได้กำหนดให้ใช้ราคาค่าทดแทนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 อย่างไรก็ตามสำหรับคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ฯซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ และนำราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 ราคาตารางวาละ35,000 บาท ซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดมาเปรียบเทียบกับบัญชีราคา ประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531-2534 ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินฯ ในปี 2528 ตารางวาละ10,000 บาท อัตราส่วนราคาประเมินฯ ต่อราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจึงเท่ากับ 10,000 ต่อ 35,000 ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 อัตราเฉลี่ยตารางวาละ 12,961.16 บาท เมื่อนำอัตราส่วนดังกล่าวมาเปรียบเทียบแล้วราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจะเท่ากับตารางวาละ 45,364.06 บาท ซึ่งใกล้เคียงอย่างยิ่งกับราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 45,000 บาท จึงเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์วิธีการและจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งชอบด้วยความมุ่งหมายหลักของมาตรา 21วรรคหนึ่ง แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่คิดคำนวณราคาที่สูงขึ้นเพื่อนำมาหักออกจากเงินค่าทดแทนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา แต่ขณะเวนคืนที่ดินของโจทก์จนถึงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกมาบังคับใช้ จำเลยทั้งสองจึงจะนำเอาค่าที่ดินที่สูงขึ้นมาหักจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ควรจะได้รับไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน… และวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้าม หากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม ใช้ไม่ได้ หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้ว จำเลยทั้งสองและศาลย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่า การเวนคืนที่ดินตามฟ้องทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นหรือไม่เพียงไร เห็นว่าเมื่อศาลฎีกาได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนโดยถือเอาราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2531 ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ราคาของที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจึงต้องถือตามราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี2531 ด้วย แต่ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายตามปกติในท้องตลาดในปี 2531 เท่าใด อย่างไรก็ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 9226 ของโจทก์ก่อนมีการเวนคืนอยู่สุดซอยพัฒนสินซึ่งมีความกว้างเพียง 10 เมตรอีกด้านหนึ่งติดคลองขวางหลังจากเวนคืนและสร้างถนนแล้วเป็นถนนกว้าง 60 เมตรตัดผ่านทำให้ที่ดินของโจทก์ด้านนี้ซึ่งแต่เดิมอยู่ติดคลองเปลี่ยนสภาพเป็นอยู่ติดถนนซึ่งมีความกว้างถึง 60 เมตร ย่อมทำให้มีราคาสูงขึ้น แม้ที่ดินส่วนที่เหลือนี้มีความกว้างประมาณ 15 เมตร แต่ที่ดินที่เหลือมีเนื้อที่ถึง 211 ตารางวา โจทก์ก็ยังสามารถจะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้และสภาพที่ดินของโจทก์ที่เหลือนี้อยู่ติดถนนกว้าง 60 เมตร เทียบเคียงได้กับที่ดินที่อยู่ติดถนนจันทน์ตัดใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ไม่มากตามแผนที่บัญชีราคาประเมินที่ดิน พ.ศ. 2531-2534 เอกสารหมาย จ.39 ที่ดินบริเวณติดถนนจันทน์ตัดใหม่ระยะ 20 เมตร อยู่ในหน่วยที่ 1 ราคาตารางวาละ 40,000 บาท ส่วนที่ดินบริเวณติดซอยพัฒนาสินระยะ 40 เมตร ตารางวาละ 15,000 บาท อัตราส่วนของราคาตามแผนที่บัญชีราคาประเมินที่ดินดังกล่าวระหว่างที่ดินติดถนนจันทน์ตัดใหม่กับที่ดินติดซอยพัฒนสินเท่ากับ 8 : 3 อัตราส่วนของราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่อยู่ติดถนนจันทน์ตัดใหม่ : ที่ดินติดซอยพัฒนาสินน่าจะมีอัตราส่วนใกล้เคียงกับอัตราส่วนตามแผนที่บัญชีราคาประเมินที่ดินดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่อยู่ติดถนนจันทน์ตัดใหม่ควรมีราคามากกว่าหนึ่งเท่าของราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินติดซอยพัฒนาสิน เมื่อปี 2531 ที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดซอยพัฒนาสินมีราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้นที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนในปี 2531 ซึ่งติดถนนที่ตัดใหม่กว้าง 60 เมตร ควรมีราคาไม่น้อยกว่าตารางวาละ 90,000 บาท ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจึงมีราคาที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่าตารางวาละ 45,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ที่ดินส่วนนี้มีราคาตารางวาละ 62,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ทั้งเห็นควรให้เอาราคาที่สูงขึ้นตารางวาละ 45,000 บาท มาหักออกจากค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 309 ตารางวา ตารางวาละ 45,000 บาทคิดเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 13,905,000 บาท ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่211 ตารางวา มีราคาสูงขึ้นตารางวาละ 45,000 บาท คิดเป็นเงิน 9,495,000 บาทจำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 4,410,000 บาท
ปัญหาข้อที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่าศาลชั้นต้นคิดค่าเสียหายของต้นไม้ยืนต้นในที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืน เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามบัญชีราคาค่าทดแทนพืชผลต้นไม้ฯ เอกสารหมาย ล.17กำหนดค่าทดแทนพืชผลต้นไม้ไว้โดยแบ่งเป็น 3 ขนาดเท่านั้นขนาดแรกมีผลแล้วหรือขนาดใหญ่ ขนาดที่สองไม่มีผลหรือขนาดกลาง ขนาดที่สาม ขนาดเล็ก โดยมีหมายเหตุไว้สำหรับต้นไม้บางชนิดว่า ขนาดใหญ่สูงเกิน 5 เมตรขนาดกลางสูง 3 ถึง 5 เมตร ขนาดเล็กต่ำกว่า 3 เมตร เป็นการกำหนดอย่างคร่าว ๆ โดยมิได้กำหนดขนาดของลำต้นไว้ด้วยซึ่งน่าจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาว่าต้นไม้นั้นเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่หรือเล็กและมีอายุเท่าไร เมื่อนำหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนพืชผลต้นไม้ฯ ตามเอกสารหมาย ล.17 มากำหนดค่าทดแทนค่าต้นไม้ฯ ของโจทก์ซึ่งมี 5 ต้น อันเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีโคนต้นตั้งแต่ 0.80 เมตร จนถึง 3 เมตร รวมกันแล้วจะมีราคาค่าทดแทนเพียง 1,300 บาท ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นราคาต่ำมากไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจึงไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนต้นไม้ให้แก่โจทก์โดยเทียบจากหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปลูกและคิดค่าเสียหายต้นไม้พ.ศ. 2526 ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1024/2526 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2526 อันเป็นคำสั่งของจำเลยที่ 1 เอง ซึ่งกำหนดราคาต้นไม้จากขนาดเส้นรอบวงที่วัดโคนต้นอันเป็นการกำหนดขนาดต้นไม้ที่ถูกต้องกว่าการกำหนดโดยอาศัยความสูงของต้นไม้ ค่าทดแทนไม้ยืนต้นที่โจทก์ขอมาเป็นเงิน 49,000 บาท ยังต่ำกว่าค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ฯเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งรวมแล้วเป็นเงิน 80,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนต้นไม้ให้แก่โจทก์ตามขอจำนวนเงิน 49,000 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1) แล้ว
อนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสามซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี คงที่ตลอดเวลาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 4,459,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์