แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วมกิจการเดินรถกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ช. จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนของห้างดังกล่าวในลักษณะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1025เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างฯ ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของห้างฯ ห้างฯ และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดแทนห้างฯ และจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสื่อมราคารถแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ารถยนต์โจทก์เสื่อมราคาจากการเกิดเหตุ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงชี้ขาดให้มีผลถึงจำเลยที่ 1ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครอง ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลี้ยวขวาขวางถนนตัดหน้ารถยนต์เก๋งซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของและผู้ขับ ทำให้รถทั้งสองคันชนกันรถโจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าซ่อม 28,490 บาท และค่าเสื่อมราคา 4,500 บาท จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารคันที่จำเลยที่ 1 ขับ จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 32,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุและไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ค่าซ่อมไม่เกิน5,000 บาท เมื่อซ่อมแล้วสภาพดีกว่าเดิมไม่เสื่อมราคา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และให้การต่อไปว่าผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดทั้งสัญญาประกันภัยมิได้ระบุให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 28,490บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 31,490 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 เลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์ของโจทก์โดยประมาทรถยนต์ของโจทก์จึงชนรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับ รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับมาร่วมกิจการเดินรถกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลชาติเจริญการท่องเที่ยว และจำเลยที่ 2 กับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลชาติเจริญการท่องเที่ยวเอาประกันภัยรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุแล่นรับคนโดยสารให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลชาติเจริญการท่องเที่ยว
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วมกิจการเดินรถกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลชาติเจริญการท่องเที่ยว จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนของห้างดังกล่าวในลักษณะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างฯ ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของห้างฯ ห้างฯและจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยส่วนจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดแทนห้างฯ และจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย
ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อสองว่า รถยนต์โจทก์ไม่เสื่อมราคา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่ารถยนต์โจทก์ไม่ได้เสื่อมราคาจากการเกิดเหตุ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าซ่อมรถเป็นเงิน 28,490 บาทเท่านั้น และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 28,490 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.