คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5247/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อหรือรับยาสูบของกลางที่ผลิตในต่างประเทศโดยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าไว้ในความครอบครอง และยาสูบนั้นมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ กับจำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทกฎหมายหลายฉบับแต่เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมายก็ถือได้ว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2548 มาตรา 12 ยกเลิกมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 และให้ใช้ความใหม่แทนกับมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2545 มาตรา 6 ยกเลิกมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2530 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำผิดหลายกรรม คือ จำเลยซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดจากคนร้ายผู้ลักลอบนำของเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศ (บุหรี่ซิกาแรต) ซึ่งเป็นของตามพิกัดอัตราอากรประเภท 24.02 ประเภทย่อย 2402.20 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ต้องเสียอากรขาเข้า ตามราคาร้อยละ 60 ยี่ห้อมาร์โบโร จำนวน 200 ซอง น้ำหนัก 3,800 กรัม ราคา 2,000 บาท คิดเป็นค่าอากรขาเข้า 1,200 บาท รวมเป็นราคาของและค่าอากรเป็นเงิน 3,200 บาท อันเป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด ต้องขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีผู้ลักลอบนำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสีย ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยซึ่งมิใช่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ ได้มีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศ ยี่ห้อมาร์โบโร จำนวน 200 ซอง ขนาดบรรจุซองละ 20 มวน ราคาซองละ 35 บาท น้ำหนัก 3,800 กรัม ราคา 2,000 บาท อันเป็นยาสูบที่จำเลยได้มาไว้ในครอบครองเป็นความผิด เป็นการมีไว้ในครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัมและเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 รวมค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดบุหรี่ดังกล่าวเป็นเงิน 5,250 บาท เหตุเกิดที่แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดยาสูบดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2, 27 ทวิ, 100 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 5, 19, 24, 44, 49, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิตและจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 49, 50 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรปรับ 12,800 บาท ความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 78,750 บาท รวมสองกระทง ปรับ 91,550 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 45,775 บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต จ่ายเงินรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 12,800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 6,400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดจากผู้ลักลอบนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศ (บุหรี่ซิกาแรต) ซึ่งเป็นของตามพิกัดอัตราอากรประเภท 24.02 ประเภทย่อย 2402.20 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ต้องเสียอากรขาเข้า ตามราคาร้อยละ 60 จำนวน 200 ซอง น้ำหนัก 3,800 กรัม ราคา 2,000 บาท คิดเป็นค่าอากรขาเข้า 1,200 บาท รวมเป็นราคาของและค่าอากร 3,200 บาท อันเป็นของต้องห้ามต้องกำกัดต้องขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมีผู้ลักลอบนำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีที่จะต้องเสียโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี และจำเลยซึ่งมิใช่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศจำนวนและราคาดังกล่าวซึ่งเกินกว่าห้าร้อยกรัมและเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ เป็นค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดบุหรี่ดังกล่าวจำนวน 5,250 บาท
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 49, 50 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยซื้อหรือรับยาสูบของกลางที่ผลิตในต่างประเทศโดยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าไว้ในความครอบครอง และยาสูบนั้นมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายกับการที่จำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทกฎหมายหลายฉบับแต่เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2548 มาตรา 12 ยกเลิกมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 และให้ใช้ความใหม่แทน กับมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2545 มาตรา 6 ยกเลิกมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2530 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า “ในการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน…” ต่างจากกฎหมายเดิมที่ให้ถืออัตราเจ็ดสิบบาทต่อหนึ่งวันและเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ (เดิม) ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share