คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 376,345.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 329,257 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แถลงสละข้อต่อสู้ตามคำให้การในประเด็นฟ้องซ้ำและฟ้องเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 329,257 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤษภาคม 2550) ไม่ให้เกิน 47,088.27 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแทน กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 3,000 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 847.50 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งผู้จัดการสาขาไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกันพนักงาน ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) เอาประกันภัยความซื่อสัตย์ของลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ทั่วประเทศ 86 คน ไว้แก่โจทก์ วงเงินคนละ 400,000 บาท ต่อครั้ง และ 1,000,000 บาท ตลอดเวลาที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) ตรวจพบว่า จำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเอาเงินจากการขายน้ำมันระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2548 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2548 ไปเป็นเงิน 365,841.92 บาท วันที่ 27 เมษายน 2548 บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ข้อหายักยอก จำเลยที่ 1 หลบหนี ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและสำเนาหมายจับ กับเรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์จ้างบริษัทที่ เจ. เอส. แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินบริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) ไป 365,841.92 บาท จริง และเสนอให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนในจำนวนดังกล่าวโดยหักความรับผิดส่วนแรกร้อยละ 10 ออก คงเหลือ 329,257.73 บาท โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทน 329,257.73 บาท ให้แก่บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) แล้ว ตามใบสำคัญจ่าย มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ประกันภัยค้ำจุน เมื่อฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงต้องใช้อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 โจทก์ทราบความเสียหายวันที่ 19 เมษายน 2548 นับถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 เกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัทสยามสหบริการ จำกัด (มหาชน) นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นนำคำเบิกความพยานโจทก์ตามที่เบิกความไว้ต่อศาลแรงงานภาค 6 มาใช้ในคดีนี้ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและไม่ผูกพันคู่ความนั้น เห็นว่า การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 14 สิงหาคม 2550 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่ ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เพราะโจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แถลงขอสละประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำและฟ้องเคลือบคลุม ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 โดยผิดหลง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เห็นว่า ประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำและฟ้องเคลือบคลุม เป็นปัญหาสำคัญอันควรศาลฎีกาได้วินิจฉัยนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในประเด็นดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในข้อไหนอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 และที่ 4 นั้นไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share