คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้โดยเอกสารสัญญากู้พิพาทยังไม่มีการกรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอกู้ยืมจากโจทก์เป็นจำนวนเงินเพียง 200,000 บาท แต่ปรากฏว่าสัญญากู้ดังกล่าวกลับมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 2,800,000 บาท จึงเป็นการกรอกข้อความลงในสัญญากู้ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อให้ไว้ผิดไปจากความจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้พิพาทจึงเป็นเอกสารปลอม และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงลายมือไว้แล้วมีการกรอกข้อความว่าเป็นการค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 2,800,000บาท ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงเป็นเอกสารปลอมเช่นกัน ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย ขอให้จดทะเบียนปลดจำนองรายเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งต่อมาคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่ามีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งผูกพันสัญญาจำนองคำพิพากษาศาลฎีกาว่ามีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งผูกพันสัญญาจำนอง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 3 และโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความรายเดียวกันนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อมีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงผูกพันสัญญาจำนองรายนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาจำนองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน4,256,676 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน2,800,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5339พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้โจทก์จะครบ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ไปตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์กู้ยืมเงินไปจากโจทก์เพียง 200,000 บาท โจทก์หลอกลวงจำเลยที่ 1 และที่ 2ลงชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้ซึ่งมิได้กรอกข้อความใด ๆ ไว้ ต่อมาวันที่8 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5339 เป็นประกันการกู้ยืมเงินในวงเงิน200,000 บาท และในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันโดยมิได้กรอกข้อความใด ๆ ไว้เช่นเดียวกัน ส่วนจำนวนเงิน 200,000 บาท โจทก์นัดจำเลยที่ 1 ไปรับเงินที่ทำงานของโจทก์ในวันรุ่งขึ้น แต่วันรุ่งขึ้นโจทก์ไม่ยอมจ่ายเงินที่กู้ให้จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสี่จึงมิได้เป็นหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5339 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระแทนด้วย
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระเงินจำนวน 2,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,456,767 บาท นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำเลย 2,800,000บาท ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันเป็นจำนวน 2,800,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2ลงลายมือชื่อไว้โดยเอกสารดังกล่าวยังไม่มีการกรอกข้อความและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอกู้ยืมจากโจทก์เป็นจำนวนเงินเพียง 200,000 บาท แต่ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 กลับมีการกรอกข้อความว่า จำเลยที่ 2 ที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 2,800,000 บาท จึงเป็นการกรอกข้อความลงในสัญญากู้ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อให้ไว้ผิดไปจากความจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นเอกสารปลอม และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้แล้วมีการกรอกข้อความว่าเป็นการค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 2,800,000 บาท ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงเป็นเอกสารปลอมเช่นกัน ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.2 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย ขอให้จดทะเบียนปลดจำนองรายเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1785/2537 ซึ่งต่อมาคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9672/2539 ว่า มีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งผูกพันสัญญาจำนองคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 3 และโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความรายเดียวกันนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อมีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงผูกพันสัญญาจำนองรายนี้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาจำนองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดิน โฉนดเลขที่ 5339 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยอื่น

Share