แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ยื่นอุทธรณ์แล้วไม่นำสำเนาอุทธรณ์ส่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจนเกินกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีได้
ย่อยาว
คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2495 ศาลแพ่งสั่งในวันเดียวกันนั้นว่าให้รับอุทธรณ์ ให้จัดการส่งสำเนาให้จำเลยในกำหนด 15 วัน ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2495 หัวหน้ากองหมายรายงานต่อศาลแพ่งว่าโจทก์ไม่มานำส่งหมายให้จำเลย ศาลแพ่งจึงส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2495 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ว่ามิได้จงใจจะทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์นำสำเนาฟ้องอุทธรณ์ส่งให้จำเลยใหม่ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลแพ่งไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) และมาตรา 246 จึงให้จำหน่ายคดีของโจทก์เสียจากสารบบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(1)
โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ได้ความตามคำพยานที่โจทก์นำมาให้ไต่สวนว่าในวันที่ 21 สิงหาคม ทนายโจทก์ก็ได้ทราบคำสั่งศาลแพ่งที่ได้รับอุทธรณ์และให้นำส่งสำเนาให้จำเลยในกำหนด 15 วันนั้นแล้ว แต่ในวันนั้นเจ้าหน้าที่ยังเขียนหรือพิมพ์หมายไม่เสร็จทนายโจทก์ก็เลยกลับบ้านเสีย ต่อมาวันที่ 25 หรือ 26 สิงหาคม 2495 ทนายโจทก์ไปว่าความที่จังหวัดชลบุรี จึงได้สั่งให้นายจรูญเสมียนให้ไปนำหมายและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ที่กองหมาย แต่นายจรูญหาได้ไปจัดการไม่เพราะได้ไปธุระกิจเสียที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทนายโจทก์กลับจากจังหวัดสุพรรณบุรีวันที่ 28 หรือ 29 เดือนนั้น แล้ววันที่ 30 ก็เดินทางไปว่าความที่จังหวัดนครสวรรค์จนถึงวันที่ 4 กันยายน จึงกลับมา รุ่งขึ้นวันที่ 5 ทนายโจทก์ไปทำงานที่สำนักงานแต่ไม่ได้พบกับนายจรูญ ทนายโจทก์ไม่ได้เฉลียวถึงเรื่องนี้ จนกระทั่งปลายเดือนกันยายน ทนายโจทก์ไปว่าความที่ศาลแพ่งจึงได้ทราบจากพนักงานว่าไม่มีการนำส่งหมายและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ ทนายโจทก์จึงได้ทำคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น
ศาลฎีกาพิจารณาคำพยานโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์และทนายมีเวลาที่จะนำเจ้าพนักงานไปส่งหมายและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 22 จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2495 แต่หากเพิกเฉยละเลยเสียไม่ไปจัดการนำเจ้าพนักงานเอง ต่อวันที่ 27 จึงปรากฏว่าทนายโจทก์ไปว่าความที่ศาลจังหวัดชลบุรี ในวันที่ 28-29 ก็มีเวลาอยู่ในพระนครซึ่งถ้าทนายจะเอาใจใส่ไม่เพิกเฉยเสีย ก็ยังมีเวลาที่จะจัดการเรื่องนี้ได้เรียบร้อย แม้วันที่ 30 สิงหาคม ทนายโจทก์จะต้องไปว่าความที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็ปรากฏว่าได้ว่าความที่นั่นในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งอาจจะกลับถึงพระนครได้ในวันที่ 2 หรือที่ 3 แล้ววันที่ 4, 5 กันยายน ก็ยังมีเวลาที่จะจัดทำเรื่องนี้อีก หากแต่ละเลยเพิกเฉยเสียจนวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยมาตั้งเดือนแล้วจึงมาร้องขอต่อศาลอุทธรณ์ขอนำส่งหมายและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ ดังนี้ศาลฎีกาจึงเห็นว่าโจทก์และทนายได้เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดให้ ได้ชื่อว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำหน่ายคดีเสียเป็นการชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าทนายชั้นนี้แทนจำเลย25 บาท