แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำของจำเลยที่ 2 รดน้ำต้นไม้ ได้ขับรถไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ เสร็จแล้วได้ขับรถไปบ้านของตนแม้จะเป็นธุระส่วนตัวไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และที่เกิดเหตุมิใช่พื้นที่ที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบดำเนินการก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบ้านของตนก็ดี และตอนขับกลับก็ดี เป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างทางที่ขับรถกลับดังนี้ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่การงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้าง ด้วยความประมาทชนท้ายรถโจทก์เสียหาย โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสงอร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้โดยพลการในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เองเหตุเกิดในเขตจังหวัดนนทบุรี อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน81,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถบรรทุกน้ำสำหรับรดต้นไม้ ได้ชับรถบรรทุกน้ำดังกล่าวด้วยความประมาทชนรถโจทก์เสียหายโดยในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้นำรถออกไปรดน้ำต้นไม้ตามหน้าที่เสร็จแล้วได้ขับรถไปบ้านของจำเลยที่ 1 และไปชนรถโจทก์ตอนขับรถกลับศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบ้านของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นธุระส่วนตัว ไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และที่เกิดเหตุอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี นอกเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมิใช่พื่นที่ที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบดำเนินการดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบ้านของจำเลยที่ 1 ก้ดี และตอนขับกลับก็ดีเป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อเหตุเกิดระหว่างทางที่จำเลยที่ 1 ขับรถกลับ ดังนี้ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่การงานของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่1 ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในพฤติการณ์เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมด้วยฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.