คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5067/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเข้าไปในบ้านพิพาทตามที่ได้นัดหมายกับ โจทก์ร่วมไว้ และได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมด้วยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก เมื่อการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในตัวบ้านพิพาทโดยนัดหมายกับโจทก์ร่วมไว้ไม่เป็นการบุกรุกแม้จะได้ความว่ามีการตัดกระแสไฟฟ้าและถอดมิเตอร์ประปากรณีก็ขาดองค์ประกอบของความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ซึ่งบัญญัติว่า” ฯลฯ หรือเข้าไปกระทำการใด ๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ฯลฯ” จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก โจทก์ร่วมเช่าบ้านจำเลยทั้งสองเพื่ออยู่อาศัย ต่อมาโจทก์ร่วมตกลงคืนบ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2538 เหตุที่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาททั้งหมดก็เนื่องจากจำเลยที่ 1ยังไม่ได้คืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยทั้งสองที่บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาทในวันที่ 29 สิงหาคม 2538จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้กำลังประทุษร้ายผลักอกผู้เสียหายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 362, 364, 365, 393
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายแม็กซ์หรือแมกซ์ แดดเนอร์หรือเอชเนอร์หรือไอซ์เนอร์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประกอบด้วยมาตรา 365(2) และมาตรา 364 ประกอบด้วยมาตรา 365(1)(2) รวมสองกรรม จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประกอบด้วยมาตรา 365(2)และมาตรา 364 ประกอบด้วยมาตรา 365(2) รวมสองกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 2,500 บาทจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 2,500 บาทรวมลงโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุกเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ร่วมเช่าบ้านจำเลยทั้งสองเพื่ออยู่อาศัย มีกำหนดระยะเวลา36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่28 กรกฎาคม 2539 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 33,000 บาท ต่อมาวันที่21 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 มีหนังสือไปถึงโจทก์ร่วมขอยกเลิกสัญญาเช่าและขอบ้านคืนตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2538 และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 โจทก์ร่วมมีหนังสือตามคำแปลเอกสารหมาย จ.6 ถึงจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมยินดีที่จะยอมรับการสิ้นสุดการเช่าบ้านภายใต้เงื่อนไขว่าค่าเช่าเดือนสิงหาคม 2538 ให้หักออกจากเงินมัดจำที่จำเลยที่ 1 รับไปแล้ว และคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ร่วม สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ความผิดข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานร่วมกันบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในบ้านที่โจทก์ร่วมครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร และตัดน้ำประปากับกระแสไฟฟ้าของบ้านดังกล่าวอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร ฯลฯ และตัดน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าของบ้านดังกล่าวอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าไปในบ้านพิพาทตามที่ได้นัดหมายกับโจทก์ร่วมไว้และได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมด้วย จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ดังนั้นข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนในประเด็นเรื่องการตัดน้ำประปาและกระแสไฟฟ้านั้น จากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองไปจอดรถตรงบริเวณหน้าบ้านพิพาทอันเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับมิเตอร์น้ำประปาและมิเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้นโจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงนางสาวสำราญ นารีบุตร เป็นพยานเบิกความว่า พยานไปเปิดตู้เย็นเพื่อหยิบน้ำดื่มพบว่าไม่มีไฟฟ้าในตู้เย็น เมื่อกดสวิตช์เปิดหลอดไฟฟ้าก็ไม่มีไฟฟ้า และเปิดน้ำประปาเพื่อจะล้างจานพบว่าน้ำประปาไม่ไหล จึงทราบว่าไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา พยานได้โทรศัพท์แจ้งให้แม่บ้านซึ่งอยู่บ้านตรงข้ามทราบ โดยมีนางแดง พัดมา เบิกความสนับสนุนว่า ที่บ้านซึ่งนางแดงทำงานอยู่มีกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาใช้อยู่เป็นปกติและพยานเห็นจำเลยทั้งสองยืนกดกริ่งอยู่ที่หน้าบ้านพิพาท แล้วขับรถยนต์ออกไปที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไป ต่อมาก็เห็นรถยนต์ของจำเลยทั้งสองย้อนกลับมาจอดที่บริเวณเสาไฟฟ้าหน้าบ้านพิพาทโดยยังไม่ได้ดับเครื่องยนต์ แต่ไม่เห็นมีคนลงจากรถ และพยานตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า พยานไม่เห็นจำเลยทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมิเตอร์ไฟฟ้าและมิเตอร์น้ำประปา ดังนี้ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไปถอดสายไฟฟ้าออกจากมิเตอร์ไฟฟ้าและถอดมิเตอร์ประปาออกจากท่อประปาแต่อย่างใด ประกอบกับตำแหน่งที่มิเตอร์ไฟฟ้าและมิเตอร์ประปาติดตั้งอยู่ภายนอกรั้วบ้านพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปในตัวบ้านพิพาทโดยไม่ได้บุกรุกในตอนแรก แม้จะได้ความว่ามีการตัดกระแสไฟฟ้าและถอดมิเตอร์ประปากรณีจึงขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362ซึ่งบัญญัติว่า “ฯลฯ หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ฯลฯ” จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกในส่วนนี้
ส่วนความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานเหตุเกิดในวันที่29 สิงหาคม 2538 นั้น ได้ความจากโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมยินยอมออกจากบ้านพิพาทไปในวันที่ 28 สิงหาคม 2538 แต่มีเงื่อนไขว่าค่าเช่าบ้านเดือนสุดท้ายนั้นให้จำเลยที่ 1 หักออกจากเงินมัดจำที่ได้จ่ายไว้แล้ว และนางสาวกฤตภรณ์ สุขสุดไพศาลภริยาโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ค่าเช่าบ้านในเดือนสิงหาคม 2538 ไม่ได้ชำระ แต่แสดงเจตนาให้หักจากเงินมัดจำ ส่วนค่าเช่าในเดือนกันยายน 2538 ไม่ได้ชำระเพราะไม่ได้อยู่ในบ้านหลังนั้นตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2538 แล้ว และได้คืนบ้านหลังดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม2538 ดังนี้ คำเบิกความของโจทก์ร่วมและนางสาวกฤตภรณ์เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมและนางสาวกฤตภรณ์ย้ายไปอยู่อาศัยที่บ้านเช่าหลังอื่นแล้ว แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมตกลงคืนบ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม2538 เหตุที่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาททั้งหมดก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้คืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้กำลังประทุษร้ายผลักอกผู้เสียหายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน

Share