คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5067/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จำเลยต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่ตนเองแต่ผู้เดียวซึ่งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสิทธิของตนในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเปล่ง ศรีสุข นายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปลั่ง ศรีสุขเจ้ามรดก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2518 นายปลั่งตาย ในระหว่างมีชีวิตอยู่นายปลั่งมีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 7254เนื้อที่ 52 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย ก่อนที่นายปลั่งตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7254 ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยจำนวน 10 ไร่ พร้อมบ้านฝากระดานไม้ 1 หลัง และโรงนวดข้าวหลังคาสังกะสี 1 หลัง และแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกดังนั้นที่ดินดังกล่าวเฉพาะที่พิพาทเนื้อที่จำนวนที่เหลือ 12 ไร่3 งาน 28 ตารางวา จึงเป็นมรดกได้แก่ทายาทโดยธรรม คือนายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และจำเลยคนละ 2 ไร่ 2 งาน25.6 ตารางวา ต่อมาเมื่อปี 2521 นายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลั่ง เพื่อขอแบ่งที่พิพาท คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้แบ่งที่พิพาทออกเป็น 5 ส่วนเท่า ๆ กันโดยให้ที่ดินทุกแปลงมีส่วนหนึ่งติดคลองบางภาษีเท่ากันหมดเฉพาะส่วนของโจทก์เมื่อแบ่งแยกแล้วถูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของจำเลยให้รังวัดขยับแต่ละแปลงของโจทก์ให้พ้นบ้านเรือนของจำเลยไป โดยจำเลยจะไปจัดการแบ่งแยกที่ดินตามส่วนดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมในวันที่ 12 ตุลาคม 2521ศาลพิพากษาตามยอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 379/2521 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2521 จำเลยได้ไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2522 จำเลยได้ไปยื่นคำขอยกเลิกโดยไม่บอกกล่าวหรือแจ้งให้นายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ทราบแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อปี 2524 นายเปล่งตาย ทรัพย์ส่วนของนายเปล่งจึงตกแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่ตนเอง โดยเจตนาเบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเองมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้ จำเลยจึงถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดกในส่วนที่จำเลยมีสิทธิได้รับ ที่พิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 3 ไร่ 82 ตารางวา ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยในฐานะส่วนตัวเพื่อกลับสู่ฐานะเดิม โดยให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว และให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่เท่ากัน คนละ 3 ไร่ 82 ตารางวา โดยให้ที่ดินทุกแปลงมีส่วนหนึ่งติดคลองบางภาษีเท่ากันหมดหากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในคดีเดิม จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่พิพาทตามโฉนดเลขที่ 7254 ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสี่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2521หากจำเลยไม่ดำเนินการรังวัดแบ่งแยก ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นของโจทก์ทั้งสี่นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเปล่ง ศรีสุขโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยต่างเป็นบุตรของนายปลั่ง ศรีสุขเจ้ามรดกเดิมนายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายปลั่งต่อศาลชั้นต้นให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 7254ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จำนวนเนื้อที่พิพาท12 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา ซึ่งเป็นมรดกของนายปลั่ง ให้นายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 2 ไร่ 3 งาน 25.6 ตารางวา หลังจากฟ้องแล้วนายเปล่ง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้แบ่งที่พิพาทออกเป็น 5 ส่วน เท่ากัน โดยให้ทุกแปลงมีส่วนติดคลองบางภาษีเท่ากันหมด เฉพาะส่วนของโจทก์หากแบ่งแยกแล้วถูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของจำเลยก็ให้รังวัดขยับแต่ละแปลงของโจทก์ให้พ้นบ้านเรือนของจำเลย โดยจำเลยจะไปจัดการแบ่งแยกที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมในวันที่ 12 ตุลาคม 2521 ค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยกโจทก์และจำเลยออกเท่ากัน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ถือเอาคำพิพากษาตามยอมไปดำเนินการแบ่งแยก ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ 379/2521 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2521 จำเลยได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2522จำเลยได้ไปยื่นคำขอเลิกการแบ่งแยก และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534จำเลยได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่ตนเอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเป็นประการแรกว่าฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 379/2521 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองทั้งหมดซึ่งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามสิทธิของตนในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ทั้งมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 2 ตุลาคม 2521 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share