คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5051/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ค.เมื่อค. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยที่ 1 ได้ใส่ชื่อ ของตนในฐานะผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินทรัพย์มรดก ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทน ทายาทอื่นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่พิพาท จากจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครอง ที่พิพาทแทนทายาทอื่นเช่นเดียวกัน โจทก์ในฐานะทายาท ผู้มีสิทธิรับมรดกของ ค. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โดยไม่มีอายุความ โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนระหว่างจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การตอนแรกว่าที่พิพาทตกเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้รับยกให้จากค. ก่อนตาย แต่ให้การตอนหลังว่า หากที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้แย่งการครอบครองที่พิพาท เช่นนี้เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งและขัดแย้งกันเองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแต่คำให้การดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง ทั้งการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ดังนี้ คดีจึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ แต่ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองและเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งชี้ขาดว่า ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองจำเลยทั้งสามก็ไม่โต้แย้งคัดค้าน จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฎีกาว่าโจทก์สิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสามและนางฉลอมสูงปานเขา (เผือกอ่อน) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแบนกับนางเคลือหรือเครือ สูงปานเขา เจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 812 เนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวาในวันที่ 26 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยฉ้อฉลและไม่สุจริต ไม่ได้แบ่งปันให้โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทคนละ 1 ใน 7 ส่วนเนื้อที่ 3 ไร่ 93 ตารางวาขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 812 ระหว่างจำเลยทั้งสามและให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 3 ไร่ 93 ตารางวา หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า นางเคลือหรือเครือ สูงปานเขาเจ้ามรดกได้แบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสามและบุตรทุกคน ตั้งแต่ก่อนที่ถึงแก่ความตายโดยเฉพาะที่พิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน53 ตารางวา นั้น เจ้ามรดกแบ่งให้แก่นางฉลอม ปานสูงเขา(เผือกอ่อน) จำนวน 10 ไร่ ให้จำเลยที่ 3 จำนวน 12 ไร่ 2 งาน53 ตารางวา โดยได้มอบการครอบครองให้ แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นางฉลอมให้จำเลยที่ 3 ครอบครองที่ดินในส่วนของตนแทนเพื่อเลี้ยงดูบิดามารดา จำเลยที่ 3 จึงครอบครองที่พิพาททั้งแปลงตั้งแต่ได้รับการยกให้ ต่อมานางฉลอมขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมอบการครอบครองให้ ซึ่งเจ้ามรดกก็รู้เห็นยินยอมด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงแบ่งที่พิพาทกันครอบครองตามสัดส่วนของแต่ละคน ต่อมาเจ้ามรดกไปยื่นเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้รังวัดแบ่งแยกที่พิพาทออกเป็น 2 แปลง เพื่อจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3แต่ก่อนที่เจ้าพนักงานที่ดินจะจดทะเบียนแบ่งแยกให้ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปเสียก่อน จำเลยที่ 2 และที่ 3 คงครอบครองที่พิพาทตามส่วนแบ่งต่อมาโดยโจทก์ทั้งสามไม่คัดค้าน ที่พิพาทไม่ใช่มรดกของเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่พิพาทเป็นมรดกแต่โจทก์ทั้งสามไม่ฟ้องร้องเอาส่วนแบ่งที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นทรัพย์สินมรดกภายใน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความนอกจากนี้เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามที่ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกไว้จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อจะจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ต่อมาวันที่26 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่พิพาทตามสัดส่วนด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา แม้โจทก์จะถือว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้แย่งการครอบครองที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานานเกินกว่า 1 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงสิ้นสิทธิฟ้องเอาคืนการครอบครองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 812 ระหว่างจำเลยทั้งสามให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 7 ส่วน เนื้อที่คนละ 3 ไร่ 93 ตารางวา หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาข้อหาแรกว่า ที่พิพาทไม่ใช่มรดกของนางเคลือ เพราะนางเคลือได้ยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 และนางฉลอมแล้ว ต่อมานางฉลอมขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 และศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงได้ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางเคลือ
จำเลยทั้งสามฎีกาต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อนางเคลือถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกและได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วปรากฏถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2และที่ 3 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเช่นเดียวกัน ฉะนั้น โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์สิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนระหว่างจำเลยทั้งสามและให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การตอนแรกว่า ที่พิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้รับยกให้จากนางเคลือก่อนตาย แต่ให้การตอนหลังว่า หากที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกเมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แย่งการครอบครองที่พิพาท เช่นนี้เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งและขัดแย้งกันเองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง แต่เป็นคำให้การที่เข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง ทั้งการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ดังนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ แต่ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามสิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองตามที่จำเลยทั้งสามฎีกา นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 183 วรรคสี่ (เดิม) หรือมาตรา 183 วรรคสาม (ใหม่) ว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยทั้งสามฎีกา จำเลยทั้งสามก็ไม่โต้แย้งคัดค้าน จำเลยทั้งสามจึงไม่สิทธิฎีกาว่าโจทก์สิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share