แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ได้นิยามคำว่าขายให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้นในทางกลับกันมีไว้เพื่อขายก็คือขาย
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยบังอาจมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อขายแก่ผู้อื่นอันเป็นการขายโดยมิได้รับอนุญาตและคำขอท้ายฟ้องระบุมาตรา 13 กับมาตรา 62 มาด้วยนั้น เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเพียงกระทงเดียว คือฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย
ในการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดไปว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่สำหรับความผิดฐานมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขายมีอัตราโทษตามมาตรา 89 ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทตามกฎหมาย จำนวน ๑๗ เม็ด หนัก ๓ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายแก่ผู้อื่นอันเป็นการขายโดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยได้บังอาจขายเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อขายดังกล่าวจำนวน ๒ เม็ด ให้แก่ผู้มีชื่อ โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘มาตรา ๔, ๖, ๑๓, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๑๖ ฯลฯ และสั่งริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลย พิพากษายกฟ้องของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อหาฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๖๒, ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อหาฐานขายเมทแอมเฟตามีน ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาความผิดในข้อหาฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ว่า มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัตินิยามคำว่าขาย ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้นในทางกลับกันมีไว้เพื่อขายก็คือขาย ตามฟ้องที่โจทก์บรรยายว่า จำเลยบังอาจมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ตามกฎหมายจำนวน ๑๗ เม็ด หนัก ๓ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายแก่ผู้อื่น อันเป็นการขายโดยมิได้รับอนุญาตและคำขอท้ายฟ้องระบุมาตรา ๑๓ กับมาตรา ๖๒ มาด้วยนั้นเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเพียงกระทงเดียว คือในฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย และในการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดไปว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขายมีอัตราโทษตามมาตรา ๘๙ ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท ฉะนั้นคดีโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้มีแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขาย
พิพากษายืน