แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาที่มีเงื่อนไขนั้นในขณะที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จก็โอนกันได้ เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือแล้ว และผู้รับโอนได้ทำหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบการโอนนั้นแล้วก็เป็นอันสมบูรณ์ และใช้ยันลูกหนี้ได้
ย่อยาว
ได้ความว่าเดิมจำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมด้วยตึก ๑ หลัง ให้แก่ จ.โดยทำสัญญากันเอง โดยเหตุว่าเวลานั้นมีพระราชกฤษฎีกาห้ามการซื้อขายที่ดินในเขตต์ทางรถไฟที่จะสร้างจากสายขอนแก่นมานครพนมชั่วคราว และตกลงกันว่าถ้าพระราชกฤษฎีกานั้นยกเลิกแล้วจึงค่อยทำกันใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมา จ.ได้โอนสัญญาขายฝากให้โจทก์ ๆ ได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบแล้ว และเพื่อให้การขายฝากสมบูรณ์โจทก์ได้บอกให้จำเลยไปทำสัญญาขายฝากที่อำเภอ จำเลยไม่ไปโจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยไปทำสัญญาขายฝากให้โจทก์หรือให้จำเลยคืนต้นเงินกับดอกเบี้ยให้โจทก์
ศาลเดิมสั่งงดสืบพะยานโจทก์จำเลย แลพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เพราะทำผิดแบบ
ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลเดิมสืบพะยานโจทก์จำเลยเมื่อเสร็จแล้วให้ส่งไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าถึงแม้การขายฝากนั้นเป็นโมฆะก็ดี แต่การให้เงินและรับเงินนั้นเข้าแบบนิติกรรมอย่างหนึ่งได้ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์
จำเลยฎีการวมใจความ ๒ ข้อ
๑. สัญญาระวางจำเลยกับ จ.นั้นเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ จะโอนกันมิได้ เพราะไม่ใช่สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๐๓
๒. การโอนระวางโจทก์กับ จ.มิได้ทำเป็นหนังสือ จำเลยไม่ได้ยินยอมด้วยการทำหนังสือ
ศาลฎีกาตัดสินว่า ในปัญหาข้อ ๑ นั้นแม้จะถือว่าเป็นสัญญามีเงื่อนไขก็โอนได้ตามมาตรา ๑๔๗ เพราะเมื่อโอนแล้วสิทธิของ จ. มีอยู่อย่างไรก็ตกไปยังโจทก์ ส่วนในปัญหาข้อ ๒ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการโอนได้ทำเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์ผู้รับโอนได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้วก็เป็นการเพียงพอตามมาตรา ๓๐๖ หาจำต้องทำหนังสือในการยินยอมของจำเลยด้วยอีกไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์