แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนเกิดเหตุที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนนิ้วก้อยข้างซ้ายขาดนั้น ผู้เสียหายไม่ได้มีสาเหตุหรือทะเลาะกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมสมคบหรือวางแผนเพื่อทำร้ายผู้เสียหาย และขณะผู้เสียหายถูกทำร้ายนั้นจำเลยที่ 2 ก็มิได้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงได้ความเพียงว่าเมื่อผู้เสียหายวิ่งหลบหนีภายหลังถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำร้ายแล้วมาพบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้จับชายผ้าขาวม้าที่ผู้เสียหายคาดเอวไว้และจำเลยที่ 2 กับพวกรุมชกต่อยผู้เสียหายจนกระทั่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาทัน จำเลยที่ 1 จึงใช้มีดฟันผู้เสียหาย แต่พลาดไปถูกขาจำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บพฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัสไปแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายในตอนหลัง และการที่จำเลยที่ 2 มางานเลี้ยงที่บ้าน ค. พร้อมกับจำเลยที่ 1 ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำร้ายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันเตะต่อยและใช้มีดแทงนายนิยม เขียวจีน ผู้เสียหาย ที่บริเวณหน้าอก โดยเจตนาฆ่า แต่ผู้เสียหายหลบทันมีดถูกนิ้วก้อยมือซ้ายขาด ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 83 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายนิยม เขียวจีน ผู้เสียหายถูกทำร้ายด้วยมีดนิ้วก้อยข้างซ้ายขาดได้รับอันตรายสาหัส คดีมีปัญหาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนนิ้วก้อยข้างซ้ายขาดนั้น ผู้เสียหายไม่ได้มีสาเหตุหรือทะเลาะกับจำเลยที่ 2 มาก่อนแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2มีส่วนร่วมสมคบหรือวางแผนเพื่อทำร้ายผู้เสียหาย และขณะผู้เสียหายถูกทำร้ายนั้นจำเลยที่ 2 ก็มิได้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงได้ความแต่เพียงว่า เมื่อผู้เสียหายวิ่งหลบหนี ภายหลังถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำร้ายแล้วมาพบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้จับชายผ้าขาวม้าที่ผู้เสียหายคาดเอวไว้ และจำเลยที่ 2 กับพวกรุมชกต่อยผู้เสียหายจนกระทั่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาทัน จำเลยที่ 1 จึงใช้มีดฟันผู้เสียหาย แต่พลาดไปถูกขาจำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ พฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัสไปแล้วการที่จำเลยที่ 2 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายในตอนหลัง และข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 มางานเลี้ยงที่บ้านนายดีมพร้อมกับจำเลยที่ 1 ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำร้ายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น