แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในภาวะแห่งการปฏิวัติ ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ต่อไป ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งหรือกระทำการภายในขอบเขตที่ระบุไว้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมมีผลเป็นธรรมดาว่า ไม่เป็นมูลที่ผู้ใดจะนำมาฟ้องให้รับผิดตามกฎหมายได้ ศาลย่อมไม่รับฟ้องเช่นว่านั้น หรือถ้ารับฟ้องไว้แล้วก็มิได้หมายความว่าศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นในภายหลังไม่ได้ เพราะคำสั่งรับฟ้องเช่นนี้มิใช่คำสั่งวินิจฉัยขี้ขาดคดี ไม่อยู่ในบังคับที่ศาลนั้นจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143, 145 เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508 ซึ่งบัญญัติให้บุคคลใดฟ้องร้องว่ากล่าวนายกรัฐมนตรีและผู้กระทำการตามคำสั่งนั้น จึงเป็นวิธีการอันพึงดำเนินเมื่อมีการฟ้องร้องคดีอันเป็นกรณีตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มิใช่บทบัญญัตินอกเหนือขอบเขตแห่งมาตรา 17 และไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เมื่อพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508 เป็นกฎหมายที่ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน มาตรา 17 โดยเฉพาะ มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกรณีหนึ่งกรณีใดขึ้นเป็นการตัดสิทธิที่บุคคลจะดำเนินคดีทางศาล จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติตามมาตรา 17แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรบัญญัติว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งหรือกระทำการใดโดยอ้างมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฯลฯ ให้ได้รับความคุ้มครอง บุคคลใดจะฟ้องร้องว่ากล่าว ฯลฯ มิได้ นั้น หมายความว่าต้องเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่อ้าง มาตรา 17 โดยเป็นกรณีที่อยู่ภายในขอบเขตของมาตรา 17 หากคำสั่งหรือการกระทำนั้น ๆ อยู่นอกเหนือขอบเขตของมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ศาลย่อมวินิจฉัยได้ว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นมิได้รับความคุ้มครอง
มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ โดยมติคณะรัฐมนตรีในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ฯลฯ แสดงว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เห็นสมควรใช้มาตรการที่กำหนดไว้ การวินิจฉัยว่าคำสั่งหรือการกระทำชอบด้วยมาตรา 17 หรือไม่ อยู่ที่ความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีว่าสมควรต้องมีคำสั่งหรือกระทำ มิได้อยู่ที่มีพฤติการณ์บ่อนทำลายจริงหรือไม่
มาตรา 17 มิได้ถูกระบุให้ใช้แก่ผู้ทำการบ่อนทำลายโดยเฉพาะแต่ให้ใช้เพื่อระงับหรือปราบปรามการบ่อนทำลาย แม้ผู้กระทำการบ่อนทำลายตายไปแล้ว แต่ผลของการกระทำยังคงอยู่ และมีผู้ได้ร่วมรับผลนั้นด้วย จึงถือได้ว่าผู้ได้ร่วมรับผลนั้นอยู่ในข่ายแห่งมาตรา 17 นั้นด้วย
พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า ถ้ามีคดีฟ้องร้องบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 3 อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลจำหน่ายคดีเสีย การที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจึงเป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่ว่าศาลจะจำหน่ายคดีได้ แต่เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น แม้พระราชบัญญัตินี้จะมีผลย้อนหลังบังคับแก่คดีที่ยื่นฟ้องไว้แล้วด้วย และไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อการตีความ ก็เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ เพราะมิใช่กฎหมายที่ย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญา
ศาลมีอำนาจที่จะพิเคราะห์ว่ากระบวนพิจารณาใดจำเป็นจะต้องทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการประวิงหรือฟุ่มเฟือยชักช้าโดยไม่จำเป็น ศาลย่อมงดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นได้ หรือจะสั่งคู่ความให้งดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 86 วรรค 2 และดังนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรค 4 และเมื่อศาลไม่เห็นประโยชน์ที่จะฟังคำคัดค้านของคู่ความ เพราะกฎหมายบัญญัติให้จำหน่ายคดีโดยชัดแจ้งแล้ว การฟังคำคัดค้านของคู่ความมีแต่จะทำความชักช้าประวิง ยุ่งยาก ศาลก็งดฟังคำคัดค้านและมีคำสั่งจำหน่ายคดีไปทีเดียวได้
เมื่อศาลไม่เห็นควรรับคำฟ้องที่ไม่ระบุตัวทรัพย์สินที่พิพาทให้ชัดเจนไว้พิจารณา ศาลก็ทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 และเมื่อศาลรับคำฟ้องโจทก์ไว้แล้วต่อมามีเหตุที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ ศาลก็มีคำสั่งในเรื่องนี้ใหม่โดยให้จำหน่ายคดีที่ไม่มีคำฟ้องชัดเจนพอนั้นเสียได้ ไม่ใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 มาใช้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2510)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภรรยาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนถึงอสัญกรรม จอมพลสฤษดิ์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดก จำเลยที่ ๔, ๕, ๖ ซึ่งเป็นกรรมการได้ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริต ผิดต่อกฎหมายและเกินอำนาจที่ได้รับสอบสวนเฉพาะบุคคลบางคนที่ให้ถ้อยคำว่าจอมพลสฤษดิ์ยักยอกเงินของรัฐ ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่ทราบข้อเท็จจริง และเข้าใจผิดยอมให้จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งโดยอาศัยมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรว่า จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บ่อนทำลายความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้จำเลยที่ ๔, ๕, ๖ มีอำนาจเรียกบุคคล บัญชีเอกสารมาแสดง และอายัดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์และของโจทก์ซึ่งมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง และให้ตกเป็นของรัฐ ทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งความจริงจอมพลสฤษดิ์จ่ายเงินไปในทางราชการถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบและคำสั่ง และโจทก์มิได้ร่วมรู้เห็นยินยอมในการเบิกจ่ายเงินด้วย ทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์เป็นของโจทก์กึ่งหนึ่ง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กระทำการบ่อนทำลายด้วย คำสั่งที่อ้างว่าโจทก์ร่วมรับประโยชน์อยู่ด้วยขัดต่อมาตรา ๑๗ ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งนั้นเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดหรือห้ามเกี่ยวกับทรัพย์สิน ให้คืนเงินและทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์สินรวมทั้งค่าเสียหาย และให้ออกคำแถลงการณ์แก้ข้อความในคำสั่งดังกล่าว
ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้อง แต่ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากมีพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๘ ใช้บังคับ และถ้ามีคดีอยู่ในศาลก็ให้ศาลจำหน่ายคดีเสีย จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้บางข้อหา แต่ยังมีข้อหาของโจทก์ข้ออื่นอีก ซึ่งอยู่นอกความคุ้มครอง แต่โจทก์มิได้ระบุส่วนที่กระทำเกิดคำสั่งไว้เฉพาะ และมิได้ตั้งทุนทรัพย์เฉพาะส่วนนี้ ไม่เป็นการสะดวกที่จะแยกข้อนี้ออกพิจารณา หากประสงค์จะว่ากล่าวต่อไป ก็ให้แยกข้อหาส่วนนี้ออกจากคดีนี้ สำหรับคดีนี้ให้จำหน่ายคดีเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในภาวะการณ์แห่งการปฏิวัติระหว่างร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ต่อไป ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งหรือกระทำการภายในขอบเขตที่ระบุไว้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลเป็นธรรมดาว่า ไม่เป็นมูลที่ผู้ใดจะนำมาฟ้องให้รับผิดตามกฎหมายได้ ศาลย่อมไม่รับฟ้องเช่นว่านั้น หรือถ้ารับฟ้องไว้แล้วก็มิได้หมายความว่าศาลจะวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นในภายหลังไม่ได้ เพราะคำสั่งรับฟ้องเช่นนี้มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดี ไม่อยู่ในบังคับที่อาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓, ๑๔๔ เพราะฉะนั้น พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งบัญญัติมิให้บุคคลใดฟ้องร้องว่ากล่าวนายกรัฐมนตรีและผู้กระทำการตามคำสั่งนั้น จึงเป็นวิธีการอันพึงดำเนินเมื่อมีการฟ้องร้องคดีอันเป็นกรณีตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เมื่อพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเป็นกฎหมายที่ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มาตรา ๑๗ โดยเฉพาะมิใช่กฎหมายที่บัญญัติกรณีหนึ่งกรณีใดขึ้นเป็นการตัดสินที่บุคคลจะดำเนินคดีทางศาลจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัตินี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น เห็นว่า ข้อโต้เถียงเหล่านั้นเป็นปัญหาชั้นที่จะพิเคราะห์ว่าควรบัญญัติกฎหมายขึ้นประการใด ไม่เป็นสารที่จะยกขึ้นอ้างเป็นข้อโต้แย้งให้ศาลวินิจฉัยในเมื่อได้ตราขึ้นเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแล้ว
ที่โจทก์ฎีกว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ตราขึ้นฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๐๐ ข้อ ๑๒๗ นั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างโดยกล่าวให้แจ้งชัดว่าฝ่าฝืนอย่างไร จึงไม่วินิจฉัย
ที่พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรบัญญัติว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งหรือกระทำการใดโดยอ้างมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักรฯ ให้ได้ความคุ้มครอง บุคคลใดจะฟ้องว่ากล่าว ฯลฯ มิได้นั้น มิได้หมายความเพียงสักแต่ว่าถ้าได้มีการอ้างมาตรา ๑๗ แล้วจะได้รับความคุ้มครองทุกกรณีไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นอยู่ภายในขอบเขตมาตรา ๑๗ นั้นหรือไม่ แต่ต้องหมายความว่าต้องเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่อ้างมาตรา ๑๗ โดยเป็นกรณีที่อยู่ภายในขอบเขตมาตรา ๑๗ หากคำสั่งหรือการกระทำนั้น ๆ อยู่นอกเหนือขอบเขตของมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ศาลย่อมวินิจฉัยได้ว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นมิได้รับความคุ้มครอง
ที่โจทก์ฎีกาว่า การใช้มาตรา ๑๗ ในกรณีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะไม่สุจริต ประมาทเลินเล่อ แกล้งกระทำโดยกรรมการสอบสวนเฉพาะบุคคลบางคนที่จะให้ถ้อยคำในทางที่จอมพลสฤษดิ์เบียดบังยักยอกเงินของรัฐ โดยขณะนั้นไม่มีข้อเท็จจริงดังนั้นเลย และแจ้งความประสงค์ต่อคณะรัฐมนตรีจะใช้มาตรา ๑๗ โดยปราศจากเหตุผล ไม่มีการบ่อนทำลาย เห็นว่ามาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ โดยมติคณะรัฐมนตรี ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการกระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรฯ แสดงว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เห็นสมควรใช้มาตราที่กำหนดไว้ การวินิจฉัยว่าคำสั่งหรือการกระทำชอบด้วยมาตรา ๑๗ หรือไม่ อยู่ที่ความเห็นของนายกรัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีว่าสมควรต้องมีคำสั่งหรือกระทำ มิได้อยู่ที่พฤติการณ์บ่อนทำลายจริงหรือไม่ นอกจากนี้ เหตุต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างมาเพื่อแสดงว่าการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ ไม่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่โจทก์มีความเห็นไม่ตรงกับผู้ดำเนินการตามมาตรา ๑๗ เท่านั้น ไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยว่าความเห็นเช่นนั้นมิใช่ความเห็นที่สมควรตามมาตรา ๑๗ และไม่มีพฤติการณ์ที่จะยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยว่าคำสั่งและการกระทำที่อ้างมาตรา ๑๗ นั้น ได้กระทำโดยมิชอบด้วยมาตรา ๑๗
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งในคดีนี้อ้างแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมรับประโยชน์กับจอมพลสฤษดิ์ด้วย โจทก์มิได้ทำการบ่อนทำลาย จึงใช้มาตรา ๑๗ กับโจทก์มิได้นั้น เห็นว่ามาตรา ๑๗ มิได้ระบุให้ใช้มาตรการเช่นนั้นแก่ผู้ทำการบ่อนทำลายโดยเฉพาะ แต่ให้ใช้เพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลาย แม้จอมพลสฤษดิ์ถึงอสัญกรรมไปแล้วแต่ผลของการที่จอมพลสฤษดิ์ได้กระทำไปยังอยู่ และโจทก์ได้ร่วมรับผลนั้นด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่อยู่ในข่ายแห่งมาตรา ๑๗ นั้น
ที่โจทก์ฎีกว่า ศาลจำหน่ายคดีของโจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ถ้ามีคดีฟ้องร้องบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลจำหน่ายคดีเสีย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ก็เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่ว่าศาลจะจำหน่ายคดีได้แต่เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น แม้พระราชบัญญัตินี้จะมีผลย้อนหลังบังคับแก่คดีที่ยื่นฟ้องไว้แล้วด้วย และไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อการตีความก็เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ เพราะมิใช่กฎหมายที่ย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญา
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีโดยไม่มีคำขอของจำเลย และไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๑ วรรค ๒ และ ๓ นั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจที่จะพิเคราะห์ว่า กระบวนพิจารณาใดจำเป็นต้องทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการประวิงหรือฟุ่มเฟือยชักช้าโดยไม่จำเป็น ศาลย่อมงดดำเนินกระบวนพิจารณานั้นได้ หรือจะสั่งคู่ความให้งดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐ ดับจะเห็นได้ตามนัยแห่งมาตรา ๘๖ วรรค ๒ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๔ วรรค ๔ ในทำนองเดียวกัน ดังนั้น เมื่อศาลไม่เห็นประโยชน์ที่จะฟังคำคัดค้านของโจทก์ เพราะกฎหมายบัญญัติให้จำหน่ายคดีโดยชัดแจ้งแล้ว การฟังคำคัดค้านของโจทก์มีแต่จะทำความชักช้า ประวิงยุ่งยาก ศาลก็งดฟังคำคัดค้านและมีคำสั่งจำหน่ายคดีไปทีเดียวได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลจะจำหน่ายคดีโดยเหตุว่าไม่สะดวกที่จะพิจารณาต่อไป เป็นการไม่ชอบเพราะไม่ต้องด้วยมาตรา ๒๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อหาของโจทก์ตกไปเพราะอยู่ในข้อบังคับที่ต้องจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติเกี่ยวแก่มาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร คงมีเพียงบางส่วนที่ศาลเห็นว่าโจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำนอกเหนือคำสั่งตามมาตรา ๑๗ แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายระบุส่วนที่กระทำเกินคำสั่ง เพราะมูลฟ้องของโจทก์ถือเอาเป็นการกระทำไม่ชอบทั้งหมด จึงเป็นอันว่าไม่มีตัวทรัพย์ที่เป็นมูลฟ้องในฐานทำเกินคำสั่งตามมาตรา ๑๗ ระบุไว้ในคำสั่งฟ้องที่จะพิจารณาต่อไป เมื่อศาลไม่เห็นควรรับคำฟ้องที่ไม่ระบุตัวทรัพย์ที่พิพาทให้ชัดเจนไว้พิจารณา ศาลก็ทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘ เมื่อศาลรับคำฟ้องเดิมของโจทก์ไว้แล้ว ต่อมามีเหตุมีศาลสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ ศาลก็มีคำสั่งในเรื่องนี้ใหม่โดยให้จำหน่ายคดีที่ไม่มีคำฟ้องชัดเจนพอนั้นเสียได้ ไม่ใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙ มาใช้
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.