คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4934/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเท่านั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งรวมการกระทำหลายอย่าง การใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการกระทำผิดส่วนหนึ่งในความผิดฐานชิงทรัพย์ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลก็ลงโทษจำเลยในการกระทำผิดนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีก 1 คน ร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท จำนวน 1 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ของนายวิชัย วอนวรรณ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผลักศรีษะผู้เสียหายล้มลงกับพื้นและกระชากเอาสร้อยคอทองคำดังกล่าวของผู้เสียหาย กับใช้เท้าเหยียบและถีบที่บริเวณใบหน้าผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กาย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป แล้วจำเลยได้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งพวกของจำเลยติดเครื่องยนต์รออยู่ขับพาจำเลยหลบหนีไป อันเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 340 ตรี, 83 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ 15,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธในความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่รับว่าได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุก 15 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2542เวลาประมาณ 18.40 นาฬิกา จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.3 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายดังที่จำเลยฎีกา โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18นาฬิกา จำเลยไปชวนผู้เสียหายเล่นไพ่ป๊อกที่หมู่บ้านนทีทองซึ่งห่างจากบ้านผู้เสียหายประมาณ 500 เมตร ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ไปก่อนเมื่อดูโทรทัศน์จบแล้วผู้เสียหายจะตามไป ต่อมาเวลาประมาณ 18.40 นาฬิกา ผู้เสียหายตามไปพบจำเลยที่หน้าหมู่บ้านนทีทอง จำเลยยืนอยู่กับเพื่อน 1 คนใกล้กับรถจักรยานยนต์ จำเลยเดินมาหาผู้เสียหายแต่เมื่อผู้เสียหายทวงเงิน จำเลยโกรธจึงเข้ามาเตะและต่อยผู้เสียหาย แล้วกดตัวผู้เสียหายให้ล้มลงกับพื้นและกระทืบผู้เสียหายอีก 3 ครั้ง จำเลยขึ้นไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนของจำเลยหลบหนีไป ผู้เสียหายลุกขึ้นมาแล้วจึงทราบว่าสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท พร้อมด้วยพระเครื่องหายไป เห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์กันโดยไปเล่นการพนันด้วยกันหลายครั้ง ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยก็นัดหมายจะไปเล่นการพนัน แต่เนื่องจากจำเลยเป็นหนี้จากการพนันในครั้งก่อน ผู้เสียหายจึงทวงหนี้ ทำให้จำเลยโกรธแล้วเข้าทำร้ายผู้เสียหาย ดังนั้น สาเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากการเล่นพนันระหว่างผู้เสียหายและจำเลยในครั้งก่อนนั่นเอง ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยโมโหเข้ามาเตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง ต่อย 1 ครั้ง แล้วกดตัวผู้เสียหายให้ล้มลงและกระทืบผู้เสียหายอีก 3 ครั้ง จากนั้นจำเลยก็ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยหลบหนีไป เมื่อผู้เสียหายรู้สึกตัวลุกขึ้นมารู้สึกว่าสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ รวมราคา 15,000 บาทหายไป จากคำเบิกความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายเพราะความโกรธอันเนื่องมาจากถูกผู้เสียหายทวงเงิน จำเลยทำร้ายผู้เสียหายโดยมิได้ใช้อาวุธบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายมีรอยแผลฟกช้ำที่สันจมูกกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร แผลฟกช้ำที่โหนกแก้มซ้ายกว้าง 3 เซนติเมตรยาว 3 เซนติเมตร แผลฟกช้ำที่ริมฝีปากบนด้านซ้ายกว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตรเป็นแผลที่รุนแรงมากนัก ในระหว่างถูกทำร้ายถ้าจำเลยกระชากสร้อยคอทองคำหนัก 3บาท ไปจริง ผู้เสียหายต้องรู้สึกและน่าจะต้องป้องกันทรัพย์ของตนด้วยการดึงไว้ แต่ผู้เสียหายกลับไม่รู้ตัวว่าจำเลยดึงหรือกระชากสร้อยคอของตนไป ประกอบกับสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท มีขนาดใหญ่ ต้องใช้กำลังแรงจึงจะดึงหรือกระชากสร้อยคอให้ขาดได้ดังนั้น บริเวณลำคอของผู้เสียหายน่าจะมีรอยครูดของสร้อยคอ แต่ก็ไม่ปรากฏร่องรอยเช่นว่านั้น ที่โจทก์นำสืบว่าหลังจากเกิดเหตุแล้ว จำเลยนำสร้อยคอทองคำไปขายที่ร้านทองบริเวณพรานนก ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นร้านทองใดที่รับซื้อสร้อยคอทองคำจากจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้เอาสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท พร้อมด้วยพระเลี่ยมทอง 1 องค์ของผู้เสียหายไปตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง คดีฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเท่านั้น โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งรวมการกระทำหลายอย่างการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการกระทำผิดส่วนหนึ่งในความผิดฐานชิงทรัพย์ เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดนั้นก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้ 1 ปี ยกฟ้องข้อหาชิงทรัพย์

Share