คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเสียด้วย จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง โจทก์จะฎีกาในข้อหานี้หาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรกเป็นความผิดอันยอมความได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 281 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121วรรคสอง แต่ปรากฏจากรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่าผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มอบคดีแต่อย่างใด การรับแจ้งความเช่นนี้แม้จะมีคำว่าร้องทุกข์อยู่ด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เพราะยังมิได้กระทำโดยเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2539 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยได้มีอาวุธปืนพกสั้นไม่ทราบชนิดและขนาด จำนวน 1 กระบอก ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยได้พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในบริเวณซอยสองพี่น้องอันเป็นเมืองหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยไม่มีเหตุสมควรทั้งไม่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรานางกัลยาณี ช่างย้อม ผู้เสียหายอายุ 30 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยใช้อาวุธปืนจี้บังคับขู่เข็ญไม่ให้ขัดขืนหากขัดขืนจะฆ่าให้ตายและใช้กำลังกายประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276,371, 91 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก จำคุก 8 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสองศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเสียด้วยจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง โจทก์จะฎีกาในข้อหานี้หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรกหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่บ้านพักของจำเลย โดยผู้เสียหายอ้างว่าจำเลยข่มขืนผู้เสียหายโดยใช้กำลังปลุกปล้ำถอดเสื้อผ้าผู้เสียหายใช้ขากดทับลำตัวช่วงล่าง และใช้มือกดบริเวณไหล่ของผู้เสียหายลงไปกับพื้นแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรกแต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 281 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 และคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมคิด พูลสมบัติ ว่าผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มอบคดีแต่อย่างใดซึ่งการรับแจ้งความเช่นนี้แม้จะมีคำว่าร้องทุกข์อยู่ด้วยก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เพราะยังมิได้กระทำโดยเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120”

พิพากษายืน

Share