แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์สร้างภาพยนตร์เพื่อนำออกฉายหารายได้จากผู้เข้าชมซึ่งมาหาความบันเทิง ผู้ชมภาพยนตร์เพียงแต่ได้ชมภาพและฟังเสียงของภาพยนตร์ชั่วระยะเวลาอันสั้นโดยเสียเงินค่าตอบแทน หาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่ประการใด แม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ฉายหารายได้แล้วครั้งแรกหรือที่เรียกว่ากากหนังจะมีค่าหรือราคาลดน้อยลงไป แต่ภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นยังคงเป็นทรัพย์สินและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ยังสามารถนำออกฉายหาผลประโยชน์หรือขายขาดให้บุคคลอื่นต่อไปได้อีก หาได้เสื่อมค่าหมดไปไม่ กิจการของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะซื้อขายสินค้ารายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปเนื่องจากการสร้างภาพยนตร์จึงมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ไปชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 – ปี 2527 รวมเป็นเงิน 10,100,125 บาท โดยอ้างว่าโจทก์นำต้นทุนการสร้างภาพยนตร์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(5)แต่โจทก์เห็นว่า สามารถนำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้จ่ายไปในการสร้างภาพยนตร์มาหักได้ทั้งหมด โจทก์จึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้วซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยจึงขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการประกอบธุรกิจสร้างภาพยนตร์ตามที่โจทก์นำสืบมา กว่าที่จะนำภาพยนตร์ออกฉายเพื่อให้มีรายได้เข้ามานั้น มีรายจ่ายหลายขั้นตอนและจำนวนมิใช่น้อยดังที่ปรากฏรายการให้เห็นในเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 20, 27, 32 และ 36 เริ่มตั้งแต่ค่าบทประพันธ์ ค่าตัวนักแสดง ค่าใช้จ่ายในการสร้าง ค่าฟิล์มและรูป ค่าล้างฟิล์มและอัดก๊อบปี้ ค่าอาหารและที่พักนักแสดง ค่าเครื่องแต่งตัวนักแสดงค่าบันทึกเสียงและค่าพากย์ ค่าใช้จ่ายในการสร้าง รวมทั้งค่าภาษีศุลกากรจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงเชื่อได้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ปัญหาคงมีว่า ภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างขึ้นมานี้เป็นทรัพย์สินและสินค้าของโจทก์หรือไม่และรายจ่ายในการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(5) หรือไม่
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่ว่า เมื่อโจทก์สร้างภาพยนตร์เสร็จแล้ว โจทก์ก็สามารถนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายหาผลประโยชน์ได้ทั่วประเทศ แม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ฉายหารายได้แล้วครั้งแรกหรือที่เรียกว่ากากหนัง จะมีค่าหรือราคาลดน้อยลงไป แต่ภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นยังคงเป็นทรัพย์สินและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เพราะโจทก์ยังสามารถนำออกฉายหาผลประโยชน์ให้โจทก์หรือขายขาดให้บุคคลอื่นต่อไปได้อีกหาได้เสื่อมค่าหมดไป ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ โจทก์จะนำภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์ไปเปรียบเทียบกับการผลิตสินค้าทั่วไปและถือว่าภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์เป็นสินค้าของโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาก็เพื่อนำออกฉายหารายได้จากผู้เข้าชมซึ่งมาหาความบันเทิง ผู้ชมภาพยนตร์เพียงแต่ได้ชมภาพและฟังเสียงของภาพยนตร์ชั่วระยะเวลาอันสั้นโดยเสียเงินค่าตอบแทน หาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่ประการใด โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นอยู่เช่นเดิม กิจการของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะซื้อขายสินค้า ฉะนั้นรายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปเนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(5) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน