คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4867/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจผู้แทนนิติบุคคลนั้นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022 แม้หนังสือรับรองของสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ ไม่มีข้อความอ้างอิงระบุว่าบริษัทโจทก์มีกรรมการจำนวนเท่าใด มีใครเป็นกรรมการและใครเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์และไม่แจ้งชัดแต่อย่างใดไม่
อ.ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องจำเลยโดยส่งสำเนาใบมอบอำนาจพร้อมกับฟ้อง จำเลยมิได้โต้แย้งในความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจกรณีถือได้ว่าไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจ โจทก์จึงไม่ต้องส่งต้นฉบับใบมอบอำนาจต่อศาล แม้โจทก์จะส่งต้นฉบับใบมอบอำนาจซึ่งเป็นใบมอบอำนาจฉบับอื่น มิใช่ต้นฉบับของใบมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้อง และทำขึ้นในภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ไม่มีผลแต่อย่างใด
ตามสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้ระบุโดยเฉพาะเจาะจงว่าให้ฟ้องจำเลย แต่ก็ปรากฏตามข้อความใบมอบอำนาจว่าเป็นใบมอบอำนาจทั่วไปให้ อ.มีอำนาจฟ้องร้องคดีแพ่งและคดีอาญาและมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ แทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 ได้ทุกประการดังนั้น อ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โจทก์หาจำต้องระบุชื่อจำเลยในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารโจทก์มีสาขาดำเนินการอยู่ที่จังหวัดลำปาง มีนายอุดร ศิริภากรกาญจน์ เป็นผู้จัดการและเป็นผู้รับมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีฟ้องร้องแทนโจทก์ จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์โดยขอเปิดบัญชีประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยใช้บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ ๗๔๖ จำเลยได้เบิกเงินและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์คิดถึงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้น ๑๔๒,๙๘๖ บาท ๖๔ สตางค์ โจทก์มอบให้ทนายทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี
จำเลยให้การว่า บัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๗๔๖ ธนาคารได้สั่งปิดมานานแล้วเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๑ ไม่ปรากฏชัดเจนถูกต้องและเคลือบคลุม มีข้อความไม่ปรากฏไว้ตามคำฟ้องในข้อ ๑ เลย เอกสารท้ายฟ้องหมาย ๒ เป็นสำเนาหนังสือเอกสารโดยทั่วไปหาใช่หนังสือมอบอำนาจเฉพาะที่นายตามใจ ขำภโต กรรมการผู้จัดการใหญ่มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลย นายอุดร ศิริภากรกาญจน์ ผู้จัดการ สาขาลำปาง ของโจทก์ดำเนินการเองทั้งสิ้นโดยที่โจทก์ไม่ทราบ เอกสารท้ายฟ้องหมาย ๔ สาขาของโจทก์ทำขึ้นเองหลังจากธนาคารได้ปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๗๔๖ แล้ว เอกสารท้ายฟ้องหมาย ๕ และ ๖ ไม่ใช่ของโจทก์โดยตรงและจำเลยไม่เคยได้รับทราบ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานและกำหนดประเด็น ๓ ข้อ คือ ๑. เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ๒. จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ ๓. โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้แล้วหรือไม่ แล้วมีคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยให้การปฏิเสธลอย ๆ โดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ จำเลยคงมีสิทธิซักค้านแต่ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีสิทธินำสืบพยานหักล้างพยานโจทก์ได้พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้จำเลยนำพยานเข้าสืบให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธ ฟ้องโจทก์ลอย ๆ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น ๆของจำเลยพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่แล้วเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่มีอยู่ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ จำนวน ๕๑,๒๖๐ บาท ๖๖ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี คิดตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ในยอดเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ จนถึงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ อันเป็นวันที่บัญชีเดินสะพัดสิ้นสุด เมื่อคิดได้ยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินต้นไปสำหรับคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี โดยไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์โดยนายอุดรศิริภากรกาญจน์ ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะตามหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เอกสารหมาย ๑ ท้ายฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความอ้างอิงระบุว่ามีกรรมการจำนวนเท่าใด มีใครเป็นกรรมการ และใครเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์พอที่จะสนับสนุนประกอบถ้อยคำในคำฟ้องโจทก์ ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรค ๓ ดังนั้น สำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องหมาย ๒ ของโจทก์ใช้อ้างไม่ได้เพราะความไม่สมบูรณ์และแจ้งชัด ทั้งโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับใบมอบอำนาจดังกล่าวต่อศาล เห็นว่าตามข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวจำเลยเพียงแต่ประสงค์จะโต้แย้งสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๑ ว่ามีข้อความระบุไว้ไม่ครบถ้วน ตามข้อโต้แย้งของจำเลยก็ปรากฏว่าเป็นการปฏิเสธข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายเพราะการเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๒๑ และ ๑๐๒๒ ดังนั้นแม้ในเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๑ จะมิได้ระบุว่าโจทก์มีกรรมการจำนวนเท่าใดมีใครเป็นกรรมการและใครเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ก็ไม่ทำให้โจทก์ไม่สมบูรณ์และไม่แจ้งชัดแต่อย่างใด สำหรับหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๒ จำเลยก็มิได้โต้แย้งในความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจ กรณีถือได้ว่าไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจ โจทก์จึงไม่ต้องส่งต้นฉบับใบมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ๒ ท้ายฟ้องต่อศาล ดังนั้นแม้โจทก์จะส่งต้นฉบับใบมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งเป็นใบมอบอำนาจฉบับอื่นซึ่งมิใช่ต้นฉบับของใบมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องและทำขึ้นในภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ไม่มีผลแต่อย่างใด และแม้ตามสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข ๒ จะมิได้ระบุโดยเฉพาะเจาะจงว่าให้ฟ้องจำเลย แต่ก็ปรากฏตามข้อความในใบมอบอำนาจว่าเป็นใบมอบอำนาจทั่วไปให้นายอุดร ศิริภากรกาญจน์มีอำนาจฟ้องร้องคดีแพ่งและคดีอาญาและดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๒ ได้ทุกประการดังนั้นนายอุดรศิริภากรกาญจน์ ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ โจทก์หาจำต้องระบุชื่อจำเลยในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่
ในปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้น เชื่อได้ว่าจำเลยได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์แล้วหักทอนทางบัญชีเดินสะพัดกันตลอดมาจริง สำหรับอัตราดอกเบี้ย ตามฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าร้อยละ ๑๔ ต่อปีตามที่ตกลงกัน ดังนั้นยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๑๗ จึงถูกต้องเพียงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ซึ่งมีจำนวน ๕๑,๒๖๐ บาท ๖๖ สตางค์ และหลังจากนั้นจำเลยไม่ได้นำเงินเข้าและถอนเงินจากบัญชีเดินสะพัดอีกจำเลยจึงคงต้องรับผิดชำระเงิน ๕๑,๒๖๐ บาท ๖๖ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี คิดตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ใมนยอดเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ จนถึงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ อันเป็นวันที่บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลง เมื่อคิดได้เป็นยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินต่อไปสำหรับคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี โดยไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ในปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้หรือไม่นั้นเชื่อได้ว่า จำเลยได้เลือกเอาร้านสนธยาที่ถนนเจริญเมืองนี้เป็นภูมิลำเนาในการติดต่อกับธนาคารเมื่อโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ร้านสนธยาถนนเจริญเมือง แม้จะมีเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้มีการส่งโดยชอบ
สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยนอกจากนี้ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share