คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“สินเดิม” คือทรัพย์สินของผัวหรือของเมียที่มีอยู่ก่อนแต่งงาน ซึ่งอาจนำมาใช้ประกอบการทำมาหากินให้เกิดผลได้ หรืออาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในภายหลังที่ทำการสมรสแล้ว ถึงแม้จะมิได้นำมาบริคณห์กันในเวลาแต่งงานแล้วก็ดี
การที่โจทก์มีเงินสดติดตัวมาและมีเครื่องทองเพชรสำหรับแต่งตัวเป็นสินเดิมมา เมื่อมาอยู่กับเจ้ามรดกแม้เจ้ามรดกทำแต่ราชการอย่างเดียวมิได้ค้าขายก็ถือว่ามีสินเดิม มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสได้
ผู้ทำพินัยกรรมจะเอาส่วนสินสมรสของโจทก์ไปทำยกให้ผู้อื่นไม่ได้
เมื่อพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินให้ น.ส.หนุ่ย.น.ส.หนุ่ยตายก่อนเจ้ามรดก ต้องเอาส่วนของ น.ส.หนุ่ยมาแบ่งแก่ทายาทที่มิได้มีคำสั่งกำจัดมรดกทุกคน
การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสและส่วนมรดก ไม่เป็นการฟ้องให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงไม่จำต้องฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่ทราบข้อความในพินัยกรรม
การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ไม่ใช่เป็นการรับรองพินัยกรรม พินัยกรรมระบุจำนวนเงินที่จะใช้ทำศพแน่นอน ถ้าผู้จัดการมรดกใช้เงินเกินไปจากที่กำหนด ที่ประชุมใหญ่ให้ถือว่าเป็นหนี้ทางศีลธรรมซึ่งผู้ออกเงินไป สมัครออกไปเองจะหักเงินนี้จากกองมรดกไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้ฟ้องและแก้ฟ้องว่า นางเปี่ยมโจทก์ที่ 1 ได้ทำการสมรสกับพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ชอบด้วยกฎหมาย 55 ปีเศษโดยนางเปี่ยมมีสินเดิมมาตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 1 รวมราคา 6,300 บาท แต่เวลานี้คงเหลือสร้อยข้อมือหนัก 1 บาท นอกจากนั้นจำหน่ายหมดไปในการกินอยู่กับพระยาวิสูตรฯ และเมื่อนางเปี่ยมกับพระยาวิสูตรฯ อยู่กินกันนั้นเกิดสินสมรสเป็นทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 3 ราคา 6,002,000 บาท นางผ่อน โชติกเสถียร โจทก์ที่ 2 ได้ทำการสมรสกับพระยาวิสูตรฯ ชอบด้วยกฎหมายมา 35 ปี โดยมีสินเดิมตามบัญชีท้ายฟ้องเลข 2 ราคา 7,550 บาท แต่เวลานี้คงเหลือสร้อยข้อมือฝังเพชร 1 เส้น นอกนั้นจำหน่ายไปหมดเอาเงินมาใช้ในการกินอยู่กับพระยาวิสูตรฯ และเกิดสินสมรสเป็นทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 4 ราคา 200,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้อยู่กินกับพระยาวิสูตรฯจนพระยาวิสูตรฯ ถึงแก่กรรมเมื่อ 27 มิถุนายน 2494

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2461 พระยาวิสูตรฯ ได้ทำพินัยกรรมไว้ปรากฏตามสำเนาท้ายฟ้องเลขที่ 5 ให้นางเปี่ยมโจทก์ได้รับมรดก 6,000 บาท ขณะที่พระยาวิสูตรฯ ถึงแก่กรรมคงเหลือโจทก์ซึ่งเป็นภรรยา 2 คน บุตร 3 คน คือจำเลยที่ 2-3 และนายชัดสวาสดิ์

ครั้นเดือนกรกฎาคม 2494 โจทก์จำเลยและนายชัดสวาสดิ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของพระยาวิสูตรฯ ศาลสั่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก ตามคดีแพ่งแดงที่ 1082/2494

ที่ดินและสิ่งก่อสร้างตำบลสาธร ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 3อันดับ 1-2 ราคาประมาณ 1,200,000 บาท ตามพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสามแต่ทรัพย์รายนี้เป็นสินสมรสของนางเปี่ยมโจทก์เสีย 1 ใน 3 คิดเป็นเงิน 400,000 บาท พินัยกรรมจึงคงสมบูรณ์เพียงสินสมรสส่วนของพระยาวิสูตรฯ คิดเป็นราคา 800,000 บาทเท่านั้น

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตำบลสามเสนใน ราคาประมาณ 2,100,000 บาทตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 3 อันดับ 3-4-5 ตามพินัยกรรมตกได้แก่น.ส.หนุ่ย โชติกเสถียร บุตร แต่ผู้รับพินัยกรรมนี้ตายไปก่อนพระยาวิสูตรฯ ทรัพย์รายนี้เป็นสินสมรสของนางเปี่ยมโจทก์เสีย 1 ใน 3 คิดเป็นเงิน 700,000 บาท ส่วนที่เป็นสินสมรสของพระยาวิสูตรฯ คิดเป็นเงิน 1,400,000 บาทที่ยกให้ น.ส.หนุ่ยจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของพระยาวิสูตรฯ คือโจทก์กับจำเลยที่ 2-3 กับนายชัดสวาสดิ์รวม 5 คน ตามส่วนเท่า ๆ กันคนละ 280,000 บาท

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตำบลสัมพันธ์วงศ์ 3 แปลงตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 3 อันดับ 6-7-8 ราคาประมาณ 1,250,000 บาท เป็นสินสมรสของนางเปี่ยมโจทก์อยู่ 1 ใน 3 เป็นเงิน 416,666 บาท นอกนั้นเป็นสินสมรสของพระยาวิสูตรฯ ซึ่งตามพินัยกรรมจะต้องแบ่งทรัพย์ส่วนนี้ของพระยาวิสูตรฯ แก่จำเลยทั้ง 3 กับ น.ส.หนุ่ย คิดแล้วคงได้คนละ 208,333 บาท ส่วน น.ส.หนุ่ยส่วนหนึ่งนั้นเมื่อผู้รับตายไปก่อนจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของพระยาวิสูตรฯ 5 คน เช่นเดียวกันคนละ 41,666 บาท แต่จำเลยทั้ง 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยไม่สุจริตไม่ปรึกษาโจทก์ กลับโอนที่ดิน 3 แปลงนี้เป็นของจำเลยเสียคนละแปลงเมื่อเดือน พ.ย. 2494 เป็นการปิดบังยักยอกมรดก ทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ จำเลยจึงย่อมถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกในที่ดิน 3 แปลงนี้จึงให้เพิกถอนการโอนนั้นเสีย แล้วแบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสของพระยาวิสูตรฯ เงิน 833,334 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองกับนายชัดสวาสดิ์คนละ 277,777 บาท

สรุปแล้วนางเปี่ยมโจทก์มีสิทธิได้รับแบ่งสินสมรสตามฟ้อง 2,000,616 บาท และที่ได้รับตามพินัยกรรม 6,000 บาท ในฐานเป็นทายาทโดยธรรมอีก 600,551 บาท กับสินสมรสใช้สินเดิม 5,800 บาท กับโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งสินสมรสรวมกัน 66,666 บาท นางผ่อนมีสิทธิได้รับมรดกฐานทายาท 611,551 บาท กับสินสมรสใช้สินเดิม 6,050 บาท เงินจำนวนนี้โจทก์ขอแบ่งจากจำเลยแล้วจำเลยไม่ยอมแบ่งจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ

จำเลยทั้งสามให้การว่า เป็นผู้จัดการมรดกของพระยาวิสูตรฯ และโจทก์ทั้งสองเป็นภรรยาพระยาวิสูตรฯๆได้ทำพินัยกรรมไว้จริง แต่พินัยกรรมได้จำหน่ายทรัพย์ทั้งหมดแล้ว โดยให้นางเปี่ยมได้ 6,000 บาท เท่านั้น นางเปี่ยมจึงมิได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอื่น ๆ กฎหมายถือว่าโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทโดยธรรมถูกต้องมิได้รับมรดกของพระยาวิสูตรฯ

โจทก์ฟ้องคดีเมื่อทราบพินัยกรรมแล้ว 3 เดือน จึงขาดอายุความการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้ครั้งหนึ่งจึงเท่ากับรับรองข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงจะฟ้องเพิกถอนพินัยกรรมไม่ได้ ทั้งเมื่อนางเปี่ยมทราบข้อความในพินัยกรรมแล้วมิได้โต้แย้งจึงถูกปิดปาก

โจทก์ไม่มีสินเดิมมา ทรัพย์ที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดมีเมื่อได้เป็นภรรยาพระยาวิสูตรฯ แล้วจึงไม่ใช่ทุนสินเดิม โจทก์ไม่ได้ช่วยเหลือในการหาเลี้ยงชีพเพราะพระยาวิสูตรรับราชการอย่างเดียวจึงไม่ได้ส่วนแบ่ง ทรัพย์ที่ยกให้ น.ส.หนุ่ย ๆ ตายก็ต้องตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม จำเลยโอนที่ไปโดยถือว่าเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ยักยอก ไม่ถูกกำจัดมรดก การทำศพหมดเงินไป 80,000 บาทตามสมควรฐานะและเกียรติยศของผู้ตาย จึงต้องหักค่าทำศพตามนี้

ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีบางส่วน

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีไว้ (ซึ่งยกมาไว้เฉพาะข้อ ก.ม.) ดังต่อไปนี้

ทุนเดิม หรือ ทุน ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 หมายถึงทรัพย์ที่มาจะต้องเป็นทรัพย์ที่พอเป็นกำลังในการทำมาหาเลี้ยงชีพและได้ใช้ทรัพย์นั้นในการทำมาหาเลี้ยงชีพกับชายฐานเป็นทุนตามฐานะของหญิงชาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทรัพย์สินของเมียหรือผัวที่มีอยู่ก่อนแต่งงานซึ่งอาจนำมาใช้ประกอบการทำมาหากินให้เกิดผลได้ หรืออาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในภายหลังที่ทำการสมรสกันแล้ว ถึงแม้จะมิได้เอามาบริคณห์กันในเวลาแต่งงานก็ดี นับว่าเป็นสินเดิม

คำว่า “อาจ” นั้นหมายความว่าทรัพย์ใด ๆ ก็ดี โดยไม่คำนึงถึงว่ามีค่าและราคาเท่าใด ถ้าทรัพย์นั้นหากได้นำมาใช้ประกอบการทำมาหากินเลี้ยงชีพผัวเมียได้แล้ว หรือหากนำมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของคู่สมรสทั้งสองได้แล้ว ถึงแม้จะยังไม่ได้นำเอาไปใช้ แต่ถ้านำไปใช้แล้วจะได้ประโยชน์หรือได้ผลแก่คู่สมรสในการประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพในการอยู่ร่วมกันของคู่สมรส

การที่โจทก์มีเงินสดติดตัวมาและมีเครื่องทองเพชรสำหรับแต่งตัวเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวมา แม้เมื่อมาอยู่กับพระยาวิสูตรฯ ๆ ทำแต่ราชการ ไม่ได้ค้าขาย ก็ถือได้ว่าโจทก์มีสินเดิม มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสได้

พระยาวิสูตรฯ จะมีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสให้แก่จำเลยโดยมิได้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ทั้งสองก่อนได้หรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมและไม่มีพฤติการณ์ส่อแสดงว่าโจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมอย่างใด หรือโจทก์รู้เห็นยินยอมอย่างใด พระยาวิสูตรฯ จะเอาสินสมรสไปยกให้ผู้อื่นย่อมไม่ได้ ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 1477

ตามที่พินัยกรรมยกทรัพย์ให้ น.ส.หนุ่ย ๆ ถึงแก่กรรมก่อนพระยาวิสูตรฯ แต่พระยาวิสูตรฯ ก็มิได้เปลี่ยนแปลงพินัยกรรมส่วนของ น.ส.หนุ่ยตามคำสั่งพินัยกรรมของพระยาวิสูตรฯ จึงตกไปตามประมวลแพ่ง มาตรา 1698 (1) และส่วนนี้ต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมพระยาวิสูตรฯ และบุคคลที่มิถูกเจ้ามรดกตัดมิให้รับมรดกโดยชัดเจนตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 1608 ย่อมเป็นผู้รับมรดกส่วนนี้ ผู้มีสิทธิเป็นทายาทรับมรดกส่วนนี้มี 5 คนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่พินัยกรรมระบุว่าให้จำเลยทั้ง 3 ได้ทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้น มิได้หมายถึงส่วนที่ยกให้ น.ส.หนุ่ยแล้ว

การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสและขอแบ่งมรดกตามพินัยกรรมส่วนของโจทก์และขอแบ่งในส่วนของ น.ส.หนุ่ย ไม่เป็นการขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงไม่ต้องฟ้องภายใน 3 เดือนตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 1710 เพราะคำสั่งของพระยาวิสูตรฯ ผู้ตายยังมีผลจำเลยคงมีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่พระยาวิสูตรฯ สั่งไว้

ในเรื่องที่ว่าโจทก์ถูกปิดปากตัดสำนวนในการที่มีคำร้องของโจทก์ขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระยาวิสูตรฯ ในคดีแดงของศาลแพ่งที่ 1082/2494 มีผลเท่ากับโจทก์ได้รับรองพินัยกรรมของพระยาวิสูตรฯ หรือไม่นั้น ว่าไม่ถูกปิดปากตัดสำนวน เพราะการขอเป็นผู้จัดการมรดกเท่ากับเป็นการขอมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป ไม่มีผลเป็นการรับรองพินัยกรรม

ตามพินัยกรรมให้กันเงินทำศพเพียง 8,000 บาท แต่ผู้จัดการมรดกจ่ายไป 80,000 บาท กองมรดกจะต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนนี้หรือไม่มีมติโดยที่ประชุมใหญ่ว่า พินัยกรรมระบุไว้ชัดเจน ไม่มีทางตีความเป็นอย่างอื่นเงินที่จำเลยจ่ายเกินไปจึงเป็นหนี้ทางศีลธรรมไม่อาจเรียกร้องได้ตามกฎหมาย

การที่จำเลยโอนทรัพย์ไปยังจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก โดยสุจริตไม่เป็นการปิดบัง ทำโดยเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานตามคำสั่งโดยชัดเจนในพินัยกรรม ไม่ถูกกำจัดมรดกตามมาตรา 1605

พิพากษายืน

Share