คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4770/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ริบของกลางทั้งหมดศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนของกลางบางส่วนแก่จำเลย เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยได้ทราบประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้ของทางราชการแล้ว ดังนี้โจทก์ได้ระบุมาในฟ้องแล้วว่า สถานที่ซึ่งจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ แม้โจทก์มิได้แนบประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้มาพร้อมฟ้อง ก็เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เขตควบคุมมีอาณาบริเวณเพียงใด จำเลยกระทำผิดภายในเขตควบคุมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
อำนาจของพนักงานสอบสวนจะมีประการใดย่อมเป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับทั้งหลายของทางราชการที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนนั้น ๆ ไว้ ดังนั้นการที่จะฟังว่าพนักงานสอบสวนผู้ใดมีอำนาจในการสอบสวนหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก ๑ คน ร่วมกันมีไม้แปรรูปชนิดต่าง ๆ รวม ๑๖,๕๗๔ แผ่น ปริมาตร ๑๘๕.๔๙ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในความครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ซึ่งทางราชการได้ประกาศให้ประชาชนทราบทั่วกันแล้ว โดยจำเลยกับพวกมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๖, ๗, ๔๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔ ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ และขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๖, ๗, ๔๗, ๔๘, ๗๓ ที่แก้ไขแล้วจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี คำให้การของจำเลยที่ ๑ มีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ของกลางริบทั้งหมด
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนไม้กระบากของกลาง ๓,๑๓๑ แผ่นแก่จำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกาพร้อมกับขอแถลงการณ์ด้วยวาจา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ขอแถลงการณ์ด้วยวาจาแต่เห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดี จึงให้งด คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๓ ปี ริบของกลางทั้งหมด ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนไม้กระบากของกลางแก่จำเลยที่ ๑ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ไม่เกิน ๕ ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ คู่ความคงมีสิทธิฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยที่ ๑ มีไม้แปรรูปชนิดต่าง ๆ ตามฟ้องไว้ในครอบครอง โดยไม้กระบากแปรรูป ๓,๑๓๑ แผ่น ได้มาจากต้นกระบากในที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของผู้อื่น เป็นไม้ที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนไม้นอกนั้นเป็นไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อยู่ในฐานะลูกจ้าง ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของ ไม่ต้องรับผิด จำเลยฎีกาข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าเขตควบคุมการแปรรูปไม้เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องทั้งต้องแนบประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้ของทางราชการมาพร้อมฟ้องด้วย เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปเสียตั้งแต่ต้น
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏตามคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยกับพวกได้บังอาจมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่จำเลยได้ทราบประกาศกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ของทางราชการแล้ว ดังนี้ เห็นว่าโจทก์ได้ระบุมาในฟ้องแล้วว่า สถานที่ซึ่งจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองนั้น อยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดแล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์มิได้แนบประกาศดังกล่าวมาพร้อมฟ้องนั้น ก็มิใช่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์เสียไป เพราะโจทก์ก็ได้บรรยายมาในฟ้องเช่นเดียวกันว่า จำเลยได้ทราบประกาศฉบับนี้แล้ว โดยทางราชการได้ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่สาธารณสถานในท้องที่เกิดเหตุแล้วส่วนปัญหาที่ว่าเขตควบคุมจะมีอาณาบริเวณเพียงใด สถานที่ซึ่งอ้างว่าจำเลยกระทำผิดอยู่ภายในเขตควบคุมหรือไม่ ก็เป็นเพียงประเด็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ทั้งปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ก็ได้ส่งเอสการฉบับนี้แล้วอย่างไรก็ดี ตามประกาศดังกล่าวปรากฏว่าได้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ไว้ตลอดเขตท้องที่จังหวัดทุกจังหวัดหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยนี้ ไม่ว่าจะกระทำลงในท้องที่ใดภายในราชอาณาจักรย่อมถือเป็นความผิดทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะอ้างได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องการปิดประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ให้ฟังได้ตามฟ้องก็ดี ไม้ของกลางในคดีจำเลยซื้อมาจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือเป็นความผิดก็ดี และไม้ของกลางอยู่ในลักษณะสิ่งปลูกสร้าง แม้สภาพจะดูไม่เรียบร้อย แต่ก็พออยู่อาศัยได้จึงไม่ถือเป็นความผิดก็ดี ล้วนเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาสุดท้ายจำเลยฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายว่าการสอบสวนในคดีนี้ไม่ชอบเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจป่าไม้ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการสอบสวนตามกฎหมาย เท่ากับไม่มีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าอำนาจของพนักงานสอบสวนจะมีประการใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายของทางราชการที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนนั้น ๆ ไว้ ดังนั้น การที่จะฟังว่าพนักงานสอบสวนผู้ใดมีอำนาจในการสอบสวนหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share