คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แบบ ท.ย.11-ต.55 เป็นแบบพิมพ์คำแจ้งความเรื่องโอนและรับโอนยานพาหนะซึ่งใคร ๆ ก็ตรอกข้อความเอาเองแล้วยื่นต่อนายทะเบียนยานพาหนะเพื่อสัง และเป็นคำแจ้งความต่อนายทะเบียนฯเพื่อแก้ทะเบียนรถยนต์เท่านั้น ไม่ใช่หนังสือที่เจ้าหน้าที่ต้องเรียบเรียงหรือรับว่าเป็นของแท้ตามกฎหมายลักษณะอาญาม.6(19)และไม่ใช่หนังสือสำคัญแก่การตั้งกรรมสิทธิ์หรือหลักฐานแก่การเปลี่ยนแก้เลิกล้างโอนกรรมสิทธิ์อย่างใดตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. 6(20)
ผู้ใดให้หนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นหนังสือปลอมจึงผิดตามมาตรา 223,227 ไม่ใช่ 224,225,22+,227

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเอาความเท็จไปแจ้งต่อปลัดอำเภอเมืองชลบุรีว่า จำเลยซื้อรถยนต์หมายเลข ช.ม.๐๐๐๒ และเจ้าของเดิมได้มอบทะเบียนรถให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยทำหายเสียแล้ว เจ้าพนักงานเชื่อและรับแจ้งเหตุไว้และจำเลยไปแจ้งเท็จต่อนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีและ ส.ต.ต.ดำรงค์ว่า ทะเบียนรถยนต์หมายเลขดังกล่าวหายได้แจ้งความต่ออำเภอเมืองชลบุรีแล้ว นายทะเบียนจึงคัดสำเนาใบทะเบียนรถยนต์หมายเลขดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้วจำเลยได้นำเอาใบแจ้งความเรื่องโอนและรับโอนยานพาหนะทางบกมีลายเซ็นในช่องผู้โอนว่า “นายอุดม ชื่นชม” ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นลายมือชื่อปลอมไปแจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีว่า เจ้าของเดิมได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขดังกล่าวให้แก่จำเลย เจ้าพนักงานมีคำสั่งอนุญาตให้โอนเป็นชื่อของจำเลย ความจริงเจ้าของเดิมไม่ได้โอนขายให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘,๒๒๗,๒๒๔,๒๒๕,๗๑
จำเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๑๘ ต่างกรรมต่างวาระและผิดตามมาตรา ๒๒๗,๒๒๔,๒๒๕ ที่แก้ไขโดยมาตรา ๓ ให้รวมกะทงลงโทษจำคุกจำเลย ๓ ปี ลดตามมาตรา ๕๙ กึ่งหนึ่งคงเหลือ ๑ ปี ๖ เดือน แต่จำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษามาก่อน ฯลฯ จึงให้รอการลงอาญาไว้มีกำหนด ๕ ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเอาความเท็จมากล่าวหลายคราวโดยไม่รู้สึกหวั่นเกรงเจ้าพนักงาน และยังเอาหนังสือปลอมมาใช้นับว่าเป็นการร้ายแรง พิพากษาแก้ฉะเพาะข้อที่ให้รอการลงโทษเป็นให้ลงโทษจำเลยไปทีเดียว
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นพ้องตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในเรื่องความผิดฐานแจ้งความเท็จ ส่วนความผิดในเรื่องใช้หนังสือปลอมซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมาตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๒๗-๒๒๔-๒๒๕ นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าหนังสือปลอมที่จำเลยนำมาใช้คือคำแจ้งความเรื่องโอนและรับโอนยานพาหนะทางบกแบบ ท.บ. ๑๑-ต.๕๕ นั้น เป็นแบบพิมพ์ซึ่งใคร ๆ เขียนกรอกข้อความลงไปได้เองแล้วยื่นต่อนายทะเบียน ฯ เพื่อสั่ง มิใช่หนังสือที่เจ้าหน้าที่ต้องเรียบเรียบหรือรับว่าเป็นของแท้ จึงไม่ใช่หนังสือราชการตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๖(๑๙) และเป็นเพียงคำแจ้งความต่อนายทะเบียนฯเพื่อให้แก้ทะเบียนรถยนต์เท่านั้น หาใช่หนังสือซึ่งเป็นสำคัญแก่การตั้งกรรมสิทธิ์หลักฐานแก่การเปลี่ยแก้เลิกล้างโอนกรรมสิทธ์อย่างใดตามมาตรา ๖(๒๐) ไม่ จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘,๒๒๓,๒๒๗ ให้ลงอาญาจำคุก ๒ ปี ลดตามมาตรา ๕๙ กึ่งหนึ่งคงเหลือ ๑ ปี นับแต่วันต้องขังไปปรากฎว่าจำเลยวางแผนการณ์ใช้อุบายหลอกลวงเจ้าพนักงานหลายครั้งโดยมิได้กลัวเกรง จึงไม่รอการลงโทษให้

Share