คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสาม ที่บัญญัติว่าถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 25ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นแม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วยก็ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดไป จึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสามได้ โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมา และในทำนองเดียวกันแม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย ส่วนวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยนั้นเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 187,388,600 บาท และค่าลดน้อยถอยราคาของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 228,299,080 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน415,687,680 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 415,687,680 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบเสร็จ
จำเลยให้การว่า การกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสิบถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ข้ออ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาลดน้อยถอยลงตารางวาละ 10,000 บาท ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์เฉพาะที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเท่านั้น มิได้อุทธรณ์ในส่วนที่เหลือที่อ้างว่า ทำให้ราคาลดน้อยถอยลงด้วยถือได้ว่าโจทก์ทั้งสิบพอใจและสละสิทธิในส่วนนี้แล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 3 และที่ 5 ถึงแก่กรรมนางฐาวรา หวั่งหลี ทายาทของโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 3 และนายสุกิจ หวั่งหลี (โจทก์ที่ 4)ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสิบเป็นเงินจำนวน 23,576,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ10 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 กันยายน 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ทั้งสิบนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสิบและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ10 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสิบและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 1799 เนื้อที่131 ไร่ 1 งาน 77 เศษ 5 ส่วน 10 ตารางวา ต่อมาปี 2532 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 สายกรุงเทพฯ-เชียงรายตอนทางแยกต่างระดับรังสิต (แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305(ทางเลี่ยงเมือง) และทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 306) พ.ศ. 2532 ออกใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจำนวน 17 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ทั้งสิบโดยแบ่งที่ดินที่ถูกเวนคืนออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา กำหนดให้ตารางวาละ 7,500 บาท ส่วนที่สองเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวากำหนดให้ตารางวาละ 4,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทน จำนวน46,704,000 บาท โจทก์ทั้งสิบได้รับเงินค่าทดแทนจำนวน46,704,000 บาท จากจำเลยแล้ว แต่ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าว จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มเป็นตารางวาละ 30,000 บาทรวมเป็นเงินค่าทดแทนเพิ่ม จำนวน 164,136,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบแล้วยืนราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบและจำเลยประการแรกมีว่า ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนควรเป็นจำนวนเท่าใดศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับน่าจะสูงกว่าราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แต่เนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินอันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรและการขนส่ง ซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคเป็นประโยชน์ต่อสังคมมิได้เป็นการกระทำที่มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสิบในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 10,000 บาท ก็กำหนดให้โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสิบมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเฉพาะที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงหรือไม่ข้อนี้จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่ม แต่มิได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้ เห็นว่าเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสาม บัญญัติว่า”ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย” โจทก์ทั้งสิบไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25 ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น แม้โจทก์ทั้งสิบมิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วย ก็ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ทั้งสิบควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบในครั้งนี้ โจทก์ทั้งสิบจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้
ปัญหาต่อไปมีว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบยังมีเหลือจากการเวนคืนถึง 113 ไร่ 3 งาน 49 เศษ 5 ส่วน 10 ตารางวาด้านทิศตะวันออกติดถนนพหลโยธินตลอดแนว ซึ่งเป็นถนนสายหลักเดิมมี 4 ช่องเดินรถ ด้านทิศใต้ติดถนนรังสิต-ปทุมธานี เดิมมี2 ช่องเดินรถ ซึ่งมาเชื่อมกับถนนพหลโยธิน จำเลยเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเพื่อสร้างและขยายถนนพหลโยธินเป็น 10ช่องเดินรถ และสร้างทางแยกต่างระดับ โจทก์ทั้งสิบยังสามารถเข้าออกที่ดินส่วนที่เหลือทางด้านถนนพหลโยธินได้ตามปกติส่วนทางด้านทิศใต้ซึ่งติดถนนรังสิต-ปทุมธานี แม้มีการสร้างสะพานทางแยกต่างระดับทางด้านนี้ และริมถนนรังสิต-ปทุมธานีส่วนที่ติดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ทั้งสิบ จำเลยได้สร้างทางเท้าตลอดแนวก็ตาม โจทก์ทั้งสิบก็สามารถขอเชื่อมทางเข้าออกระหว่างที่ดิน โจทก์ทั้งสิบกับถนนรังสิต-ปทุมธานีได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบที่เหลือจากการเวนคืนทั้งหมดมีจำนวนถึง 113 ไร่ 3 งาน 49เศษ 5 ส่วน 10 ตารางวา เป็นแปลงเดียวกัน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะขาดประโยชน์จากการใช้ แต่กลับน่าเชื่อว่าทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาเพิ่มขึ้น มิใช่ราคาลดลง ค่าทดแทนในส่วนนี้จึงไม่มี
ปัญหาสุดท้ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นข้อนี้โจทก์ทั้งสิบฎีกาว่า มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีคงที่ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เช่นนั้น ส่วนจำเลยฎีกาว่าไม่ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนส่วนนี้ เพราะจำเลยมิได้ผิดนัด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” จะเห็นได้ว่าการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดไป ขัดกับบทกฎหมายข้างต้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสามได้โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ทั้งสิบขอมาในทำนองเดียวกัน แม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย ส่วนวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยนั้น ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบกับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ทั้งสิบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือภายในวันที่ 19 ตุลาคม 2533 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์ทั้งสิบจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่19 ตุลาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิ้น

Share