คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ซื้อที่ดินมีโฉนด ทำนิติกรรมซื้อขายต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อชำระเงินค่าซื้อเรียบร้อยแล้วก็ได้จดทะเบียนโอนโฉนดกันตามระเบียบโดยถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยเปิดเผยและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตทั้งได้จดทะเบียนโดยสุจริต แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินในโฉนดบางส่วนจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382แต่กรรมสิทธิ์ดังกล่าวนี้กฎหมายยังไม่รับรองเด็ดขาดจนกว่าจะได้จดทะเบียนสิทธินั้นแล้ว กรรมสิทธิ์อันยังมิได้จดทะเบียนจะยกขึ้นต่อสู้ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
การแจ้งการครอบครองที่ดินตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งประการใด การแจ้งการครอบครองที่ดินนั้นเป็นเพียงการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งว่า ผู้แจ้งการครอบครองยังไม่สละสิทธิครอบครองที่ดินที่แจ้ง ถ้าผู้ครอบครองไม่แจ้งการครอบครองในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้ถือว่าสละสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดที่ ๘๐๔๖ ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อยจังหวัดอยุธยา เนื้อที่ ๓๖ ไร่เศษ จากนายประจักษ์ ศิริบัณฑิตกุล จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันที่สำนักงานที่ดิน ประมาณเดือนเมษายน ๒๕๐๘ จำเลยได้บุกรุกเข้าทำการไถหว่านข้าวที่ดินโจทก์เนื้อที่ ๒๔ ไร่เศษ ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากค่าเช่าไร่ละ ๓ ถัง รวมค่าเสียหาย ๖๐๐ บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยออกจากที่ของโจทก์จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลย จำเลยได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๖ ตลอดมาจนบัดนี้ และในปี ๒๔๙๘ จำเลยได้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้เสียภาษีที่ดินตลอดมา ที่ดินโฉนดที่ ๘๐๔๖ตามฟ้องเป็นโฉนดออกทับที่ดินส่วนหนึ่งของจำเลยโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายประจักษ์ก็เป็นไปโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินรายพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยแจ้ง ส.ค.๑ โดยเอาความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าที่ดินพิพาทไม่มีผู้ใดครอบครอง ทั้ง ๆ ที่ดินพิพาทมีโฉนดแล้ว โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนกันโอนทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ซื้อที่ดินโดยสุจริต จำเลยจะอ้างสิทธิในทางครอบครองปรปักษ์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ยันผู้จดทะเบียนซื้อไว้โดยสุจริตไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท ส.ค.๑ ที่จำเลยแจ้งไว้นั้นหาก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่ พิพากษาขับไล่ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์และนายประจักษ์ตกลงซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทโฉนดที่ ๘๐๔๖ กันแล้วได้ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทต่อเจ้าพนักงานเมื่อได้ชำระเงินค่าซื้อเรียบร้อยแล้ว ก็ได้จดทะเบียนซื้อขายโอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทกันตามระเบียบถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยเปิดเผยและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนโดยสุจริตแม้จะฟังว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ ๘๐๔๖ ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ ก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์นั้นกฎหมายยังไม่รับรองเด็ดขาดจนกว่าจำเลยจะได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว กรรมสิทธิ์อันยังมิได้จดทะเบียนนั้นจะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินแปลงพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แล้วไม่ได้เพราะกรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ นั้น ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ ซึ่งเป็นบทยกเว้นกฎหมายทั่วไปว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินหรือ ส.ค.๑นั้น ไม่ใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือถือว่าเป็นโฉนดที่ดินตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ถ้าผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดินไม่แจ้งภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ ให้ถือว่าบุคคลนั้นสละสิทธิครอบครองที่ดินการแจ้งการครอบครองไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด
พิพากษายืน

Share