คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4718/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

องุ่นแม้จะเป็นพืชที่มีอายุสั้นและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายใน 12 เดือน แต่ก็เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงไม่เป็นพืชไร่ที่ดินซึ่งปลูกองุ่นจึงไม่ใช่ที่นาอันจะได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ. การเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองต่างเช่าที่ดินมีโฉนดจากนางศรีสุขตนพิทักษ์ เพื่อประกอบการเกษตรกรรมปลูกพืชไร่คือองุ่นมาหลายปีแล้ว ต่อมานางศรีสุขขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยไม่ได้แจ้งหรือทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายที่ดินให้โจทก์ทั้งสองทราบโจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โจทก์ทั้งสองเคยติดต่อซื้อที่ดินจากจำเลยหลายครั้งแล้ว จำเลยไม่ยอมขายให้ขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ ราคา 81,000 บาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และเนื้อที่ 4 ไร่ ราคา 32,400 บาท ให้โจทก์ที่ 2
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยเช่าที่ดินจากนางศรีสุขโจทก์ทั้งสองปลูกชมพู่ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นการทำสวน ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โจทก์ทั้งสองไม่เคยแสดงความจำนงที่จะซื้อที่ดินและมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่ดินมีโฉนดตามฟ้อง ให้โจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 10 ไร่ ในราคา 81,996.60 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2เนื้อที่ 4 ไร่ ในราคา 32,789.64 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองต่างครอบครองปลูกองุ่นอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 8966 ซึ่งเดิมเป็นของนางศรีสุขตนพิทักษ์ ต่อมานางศรีสุขได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า องุ่นที่โจทก์ทั้งสองปลูกในที่ดินพิพาทนั้นถือเป็นพืชไร่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หรือไม่ เห็นว่า ตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นั้น ได้ให้คำนิยามของพืชไร่ว่าเป็นพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและอายุสั้น หรือพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายใน 12 เดือน สำหรับองุนพันธุ์มะตะแขกที่โจทก์ทั้งสองปลูกในที่ดินพิพาทนี้ ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์ทั้งสองว่า ใช้เวลาปลูก 8-10 เดือนก็เก็บผลได้ และมีอายุถึง3 ปีก็ตาย จำเลยไม่นำสืบเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าองุ่นที่ปลูกในที่ดินพิพาทเป็นพืชที่มีอายุสั้น และสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายใน 12 เดือน ส่วนปัญหาที่ว่าองุ่นดังกล่าวเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยหรือไม่นั้น พยานโจทก์ที่นำสืบไม่มีปากใดเบิกความว่าองุ่นเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย คดีคงได้ความแต่เพียงว่า โจทก์ปลูกองุ่นโดยยกขึ้นเป็นร่อง ในร่องมีน้ำขัง ส่วนจำเลยมีนายบุญสมตะเพียนทอง ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ และนายผ่อนพวงทอง เบิกความว่า องุ่นต้องการน้ำมาก การปลูกองุ่นจึงต้องทำเป็นร่องสวน นอกจากนี้นายวิชัย รอดจินดา พยานโจทก์เองก็เบิกความว่า องุ่นเป็นพืชที่ต้องการน้ำพอสมควร ขาดไม่ได้ ถ้าแห้งต้องเอาน้ำเข้าร่อง เป็นการเจือสนมกับข้อนำสืบของจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่านายบุญสม นายผ่อน พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า การทำสวนองุ่นในบริเวณที่ดินพิพาทต้องทำคันดินกั้นน้ำท่วมด้วยถ้าไม่สูบน้ำออกน้ำจะท่วมที่ดินพิพาท ทำให้องุ่นตาย จึงเห็นได้ว่าองุ่นเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่1448-1449/2523 ระหว่าง นายกำจัด มหาวิริโย โจทก์ นายบุญะรรมหรือบุญนำ แซ่อื้อ หรือแซ่อื๊อ กับพวก จำเลย นั้น เห็นว่า องุ่นเป็นพืชบนบกชนิดหนึ่ง ซึ่งลักษณะทั่วไปของพืชบนบกเมื่อถูกน้ำท่วมโคนนาน ๆ ย่อมตายทั้งสิ้น หาได้แสดงว่าพืชเหล่านั้นเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากหรือน้อยไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างเป็นเรื่องพริกหอม กระเทียม ผักกาด คะน้า มันเทศ จะเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีก่าฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า องุ่นเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แม้จะเป็นพืชที่มีอายุสั้นและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายใน 12 เดือน ก็ไม่เป็นพืชไร่อันจะถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นนาตามความหมายของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share