แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการสหกรณ์โจทก์มีมติให้ฟ้อง ส. เพียงคนเดียวและได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องในวันที่มีมตินั้น แต่หนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้ฟ้องผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะจึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไป เมื่อต่อมาคณะกรรมการสหกรณ์โจทก์ได้มีมติให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
คณะกรรมการสหกรณ์โจทก์มีมติให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการของโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินเดือนให้จำเลยที่ 1 ตลอดมาจนลาออกจากตำแหน่ง ดังนี้แม้สัญญาจ้างจำเลยที่ 1 จะมิได้ลงชื่อผู้มีอำนาจทำการแทนและประทับตราของโจทก์ตามข้อบังคับก็ตามการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการของโจทก์ตลอดมาจนกระทั่งลาออก
การที่จำเลยที่ 1 ขายนมให้แก่ ส. โดยไม่มีหลักประกันใด ๆฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการสหกรณ์โจทก์ เป็นเหตุให้ ส. ค้างชำระค่านมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในหน้าที่ของจำเลยที่ 1จะอ้างเหตุว่าได้รับคำแนะนำจากสหกรณ์จังหวัด ฯลฯ ให้ขายนมแก่ ส. มาปัดความรับผิดไม่ได้
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องระหว่างฎีกาว่า ได้ติดตามทวงหนี้สินจาก ส.และส. ได้ชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 168,000 บาท หากเป็นความจริงจำเลยที่ 1 ย่อมขอให้โจทก์ลดจำนวนหนี้ดังกล่าวในชั้นบังคับคดีได้
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ แม้จำเลยอื่นให้การต่อสู้ไว้ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยเหล่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ในเรื่องอายุความด้วยไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกเรื่องอายุความขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการโจทก์ยอมให้นายสุริยะซื้อเชื่อนมของโจทก์โดยมิได้ทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายและสัญญาค้ำประกันความเสียหายจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ภายในวงเงิน 50,000 บาทจำเลยที่ 3 ถึงที่14 เป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อมิได้ติดตามตรวจสอบปล่อยให้นายสุริยะทำการเป็นตัวแทนจำหน่ายนมของโจทก์และค้างชำระเงินค่านมหลายครั้งขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 14 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหาย 595,985.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้จัดการของโจทก์สัญญาจ้างไม่ได้ลงชื่อกรรมการผู้มีอำนาจและประทับตราของโจทก์ตามข้อบังคับจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อนายสุริยะเป็นตัวแทนจำหน่ายนมโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ได้ติดตามทวงหนี้จากนายสุริยะให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทเศษแล้วและนายสุริยะทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่เหลือไว้ให้แล้วโจทก์ไม่เสียหายขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายสุริยะหลายครั้งโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบจำเลยที่ 2 จึงพ้นความรับผิด
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 9 ถึงที่ 14 ให้การว่าการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมของโจทก์เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1ผู้จัดการจำเลยซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการไม่เคยพิจารณาอนุมัติให้ขายเชื่อแก่นายสุริยะและจำเลยที่ 1 ไม่เคยรายงานให้ทราบและคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
จำเลยที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 8 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 591,659.30บาทพร้อมดอกเบี้ยหากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนในวงเงิน50,000 บาทจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมครั้งที่ 2 มีมติให้ฟ้องนายสุริยะคนเดียวและลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องในวันที่มีมตินั้นเองแต่หนังสือมอบอำนาจนั้นก็มิได้ระบุให้ฟ้องผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะใบมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปนอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าต่อมาคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้ประชุมครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2524 ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยการที่นายประเสริฐผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลยที่1 เป็นคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 ที่โจทก์มอบอำนาจทั่วไปให้นายประเสริฐไว้ก่อนแล้วหาทำให้นายประเสริฐไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่
ก่อนที่จำเลยที่ 1 รับหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้ประชุมกันเรื่องการจ้างผู้จัดการของโจทก์ก่อนแล้วและจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับเป็นผู้จัดการของโจทก์คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จึงมีมติให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการของโจทก์และโจทก์จ่ายเงินเดือนให้จำเลยที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งจำเลยที่ 1 ลาออกจากเป็นผู้จัดการ ดังนี้แม้ข้อบังคับของโจทก์ข้อ 56 กำหนดให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการกับเลขานุการหรือเหรัญญิกคนใดคนหนึ่งรวม 2 คนเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในเอกสารทั้งปวงและในนิติกรรมสัญญาต้องประทับตราของโจทก์ไว้เป็นสำคัญด้วยแต่ในสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมิได้ลงชื่อและประทับตราของโจทก์ตามข้อบังคับดังกล่าวก็ตามการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันดังกล่าวนั้นย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ตลอดมาจนกระทั่งจำเลยที่ 1 ลาออกจากเป็นผู้จัดการจะปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้จัดการของโจทก์หาได้ไม่
ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้ประชุมและมีมติว่าให้ผู้ซื้อนมนำหลักทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินหรือบ้าน) มาจำนองไว้กับโจทก์ในกรณีที่ซื้อนมเกินกว่า 5,000 บาทถ้าซื้อต่ำกว่า 5,000 บาทให้นำข้าราชการประจำตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไปเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็ร่วมประชุมและทราบมติดังกล่าวด้วยต่อมาเมื่อนายสุริยะขอเป็นตัวแทนจำหน่ายนมของโจทก์และจำเลยที่ 1 เสนอเรื่องราวต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการที่ประชุมตั้งอนุกรรมการให้พิจารณาแต่แล้วอนุกรรมการก็หาได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์แต่ประการใดไม่จำเลยที่ 1 เองนำสืบรับว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ทักท้วงให้นายสุริยะจัดการให้ธนาคารค้ำประกันหรือมีหลักประกันแต่นายสุริยะหาประกันดังกล่าวมาให้โจทก์ไม่ได้ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ขายนมแก่นายสุริยะโดยไม่มีหลักประกันใด ๆ ฝ่าฝืนมติดังกล่าวของคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์เป็นเหตุให้นายสุริยะค้างชำระค่านมเป็นเงิน 591,659.30 บาทจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เองเมื่อนายสุริยะไม่ชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุที่สหกรณ์จังหวัดหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสหกรณ์โคนมและนักวิชาการกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้คำแนะนำให้ขายนมแก่นายสุริยะมาปัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายแก่โจทก์หาได้ไม่อนึ่งที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าในระหว่างฎีกาจำเลยที่ 1 ติดตามทวงถามหนี้สินดังกล่าวจากนายสุริยะและนายสุริยะชำระหนี้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 168,000บาทนั้นหากเป็นความจริงจำเลยที่ 1 ก็ขอให้โจทก์ลดจำนวนหนี้ดังกล่าวในชั้นบังคับคดีได้อยู่แล้ว
ปัญหาเรื่องอายุความจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 9 ถึงที่ 14 ให้การต่อสู้คดีเรื่องอายุความก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยเหล่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ในเรื่องอายุความดังกล่าวด้วยไม่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเรื่องอายุความขึ้นมาเป็นข้ออ้างในชั้นฎีกาได้
พิพากษายืนในระหว่างฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแก้ฎีกาเองจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้.