คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดดาบปลายแหลมยาว 2 ฟุต ใบมีดกว้าง 1 นิ้ว ซึ่งเป็นมีดดาบที่มีขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่ 1 บริเวณกลางหน้าผาก ลึกถึงกะโหลกศีรษะจนกะโหลกศีรษะร้าว หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้แสดงว่า จำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 โดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
จำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ผู้เสียหายที่ 2 จะเข้าไปห้ามจึงถูกจำเลยทำร้ายอีก แสดงว่าในการฟันของจำเลยแต่ละครั้ง ความประสงค์และจุดมุ่งหมายในการฟันของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าฟันครั้งใดจำเลยมุ่งประสงค์จะฟันผู้เสียหายคนใด มิใช่ฟันในขณะที่ชุลมุนกัน เจตนาที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองจึงแยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 80, 91, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยแก้ไขคำให้การเป็นต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, มาตรา 295 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่า จำคุก 10 ปี และฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 1 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงลงโทษฐานพยายามฆ่า จำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 16 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… การที่จำเลยใช้มีดดาบปลายแหลม ฟันผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ แม้จำเลยใช้มีดดาบเป็นอาวุธฟันผู้เสียหายที่ 1 เพียง 1 ครั้ง ก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงอาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายซึ่งมีลักษณะเป็นมีดดาบปลายแหลมยาวทั้งด้าม 2 ฟุต ใบมีดกว้าง 1 นิ้ว แล้ว เห็นได้ว่า เป็นมีดดาบที่มีขนาดใหญ่ใช้ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงตำแหน่งและสภาพของบาดแผลตามรายงานของแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลอยู่กลางหน้าผาก ลึกถึงกะโหลกศีรษะจนกะโหลกศีรษะร้าว ต้องใช้เวลารักษาบาดแผลประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็อันตรายถึงแก่เสียชีวิตได้ ย่อมแสดงว่าจำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 โดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้อาวุธมีดขนาดใหญ่ฟันลงไปกลางหน้าผากโดยแรงเช่นนี้ ผู้เสียหายที่ 1 อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 ไปแล้ว ผู้เสียหายที่ 2 จะเข้าไปห้าม จึงถูกจำเลยทำร้ายอีก แสดงว่าในการฟันของจำเลยแต่ละครั้งความประสงค์และจุดมุ่งหมายในการฟันของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าฟันครั้งใดจำเลยมุ่งประสงค์จะฟันผู้เสียหายคนใด มิใช่ฟันในขณะที่ชุลมุนกัน เจตนาที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองจึงแยกออกจากกันได้ หาใช่ว่าเมื่อเป็นการกระทำต่อเนื่องแล้วจะต้องเป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมกันจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share