คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่แจ้งและเสนอขายให้โจทก์ในฐานะผู้เช่าก่อน ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524มาตรา 54 แต่ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท แล้วจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามดังกล่าวนั้นโดยขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาได้อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้แล้ว การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีจำเลยทั้งสามเป็นคดีใหม่อีกโดยขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความการจดทะเบียนโอนในโฉนดที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่กระทำกันในคดีที่จำเลยที่ 1ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 2 เพื่อให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามเดิมนั้น เป็นการฟ้องในมูลคดีเรื่องเดียวกันกับคดีก่อน ทรัพย์สินรายเดียวกัน มีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกันว่าโจทก์จะมีสิทธิบังคับซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 หรือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524ได้หรือไม่ เมื่อคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอีกดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 173วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1179 โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้เช่าปลูกข้าวเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2531 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1179 ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในราคา 563,750 บาทฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524มาตรา 53 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าทราบ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิซื้อที่ดินนั้นจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มาตรา 54 และโจทก์ทั้งห้าได้ใช้สิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมายขอซื้อที่ดินคืนจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหน้าไม้ (คชก.ตำบลหน้าไม้) คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดปทุมธานี (คชก.จังหวัดปทุมธานี) ได้มีมติให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้า แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ปฎิบัติ ตาม โจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้โอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ทั้งห้ามีฐานะเป็นเจ้าหนี้โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาตรา 54 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสามพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายกล่าวคือ จำเลยทั้งสามสมคบกันให้จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 542/2531 ของศาลชั้นต้นด้วยการเอาความเท็จมาอ้างในคำฟ้องเป็นใจความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมในการโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3เหตุที่ลงชื่อในสัญญาซื้อขายก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3หลอกลวงว่า เพื่อให้นายโสภณ ศุภจิตร ไถ่ที่ดินพิพาทคืนตามที่จำเลยที่ 1 เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ เมื่อทราบว่าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ใช่นายโสภณใช้สิทธิไถ่ จึงฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนอ้างว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทที่ทำเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2530เป็นโมฆะ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยที่ 1 มีเจตนาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยความสมัครใจ มิได้มีความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมนั้นแต่อย่างใดแล้วจำเลยทั้งสามสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2531 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมให้เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 518/2531 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2531 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้โอน และจำเลยที่ 1ผู้รับโอนกระทำไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 มาตรา 53, 54 และได้ใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้น ให้โอนขายที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งห้าไว้แล้วต้องเสียเปรียบ และเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉล ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉล สัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาตามยอม การจดทะเบียนโอนในโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2531 ให้ที่ดินเป็นของจำเลยที่ 2ที่ 3 ตามเดิม
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์ทั้งห้าที่อ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้นเห็นว่า คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาจำเลยก็คัดค้านว่าคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว กับคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดปทุมธานี ที่มีมติให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายคดียังไม่ถึงที่สุด สิทธิการซื้อที่ดินพิพาทยังอยู่ในระหว่างโต้แย้ง โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 518/2531 ของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ทั้งห้าเป็นบุคคลภายนอกคดี มิได้เป็นคู่ความ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องจำหน่ายคดี
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้รับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้นหรือไม่พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าก่อนโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งห้าได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3โดยไม่แจ้งและเสนอขายให้โจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้เช่าก่อนโจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องขอบังคับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 แต่ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท แล้วจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 518/2531 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งห้าจึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้น โดยขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตโจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งห้าฎีกาศาลฎีกาพิพากษากลับอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขคำฟ้องได้ดังนั้น เมื่อคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้นศาลฎีกาได้อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขคำฟ้องได้แล้วข้อพิจารณาจึงมีว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า มูลคดีของทั้งสองคดีเป็นเรื่องเดียวกัน ทรัพย์สินรายเดียวกัน มีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกัน ว่า โจทก์ทั้งห้าจะมีสิทธิบังคับซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2534 ได้หรือไม่ เมื่อคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 433/2531 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นการที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องคดีนี้อีก จึงเป็นการฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share