คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4640/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ส. เป็นหนี้เงินกู้มีอายุความ 10 ปี ขณะที่ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้นั้น ยังไม่หมดอายุความ ดังนั้น จะนำอายุความ 2 ปี เรื่องการรับสภาพความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า นางสาวสมลักษณ์ ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 4 ครั้ง และได้ทำหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ไว้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2533 จำนวนเงิน 200,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือนนับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ จะชำระดอกเบี้ยในวันที่ 5 ของทุกเดือน และจะชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดในวันที่ 10 มกราคม 2534 หากผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดยอมให้โจทก์เรียกร้องหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที นางสาวสมลักษณ์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องนางสาวสมลักษณ์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11296/2539 ให้นางสาวสมลักษณ์ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2539 ซึ่งเป็นวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นางสาวสมลักษณ์ไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหักเงินเดือนของนางสาวสมลักษณ์เดือนละ 5,000 บาท และเงินโบนัสอีกครั้งละ 30 เปอร์เซ็นต์ โจทก์ได้รับเงินไปรวม 5 ครั้ง เป็นเงิน 144,852.70 บาท ต่อมานางสาวสมลักษณ์ลาออกจากงาน และไม่ชำระหนี้ให้โจทก์อีก ยังคงค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 317,719.65 บาท ในการที่นางสาวสมลักษณ์ทำหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ให้โจทก์ดังกล่าวมีจำเลยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ไว้ให้โจทก์จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในฐานะลูกหนี้ร่วมโจทก์จึงทวงถามหนี้ที่ค้างชำระเอาจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 307,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิด เพราะจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและมูลคดีก็เกิดขึ้นที่ภูมิลำเนาของโจทก์ที่จังหวัดนครปฐม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟัองโจทก์ไว้พิจารณาจึงขัดต่อกฎหมาย จำเลยไม่เคยค้ำประกันการทำหนังสือยินยอมรับไว้พิจารณาจึงขัดต่อกฎหมาย จำเลยไม่เคยค้ำประกันการทำหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ระหว่างนางสาวสมลักษณ์ กับโจทก์ โจทก์จัดทำเอกสารสัญญาค้ำประกันขึ้นเองทั้งฉบับ ลายมือชื่อจำเลยผู้ค้ำประกันเป็นลายมือปลอม หนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ที่โจทก์อ้างจึงเป็นเอกสารปลอมไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์จะฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้เพราะหนี้นั้นขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาค้ำประกันและที่โจทก์ฟ้องนางสาวสมลักษณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11296/2539 ของศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่รับสภาพความรับผิด คือวันที่ 10 มกราคม 2533 โจทก์ฟ้องในปี 2539 จึงขาดอายุความ แต่ลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้เพราะหนี้นั้นขาดอายุความแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้มิได้ปิดอากรแสตมป์ขีดฆ่าให้ครบถ้วนถูกต้องจึงไม่อาจรับฟังได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าโจทก์ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อใด โดยหักเงินเดือนและโบนัสชำระหนี้แก่โจทก์วันที่เท่าไร จำนวนครั้งละเท่าไร จำเลยไม่อาจให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จำเลยไม่เคยได้รับการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 307,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ธันวาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางจันทร์จิรา ผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาเข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำแก้ฎีกาและสำเนาให้จำเลยแล้วไม่ปรากฏการคัดค้าน จึงพออนุโลมได้ว่าผู้จัดการมรดกของโจทก์ประสงค์ขอเข้าเป็นคู่ความแทนแล้ว ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ ระบุถึงที่อยู่ของจำเลยว่ามีทั้งที่ทำงานและที่บ้าน สำหรับที่ทำงานคือโรงงานยาสูบ โจทก์จึงระบุที่อยู่ของจำเลยตามคำฟ้องในครั้งแรกว่าเป็นที่ทำงาน ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อส่งหมายไม่ได้โจทก์จึงได้ขอแก้ไขคำฟ้องตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยตามที่แนบท้ายคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและขอส่งหมายข้ามเขต นอกจากนี้ตามรายงานการเดินหมายของเจ้าหน้าที่ที่ไปส่งในครั้งแรกก็มิได้ระบุว่าจำเลยลาออกจากที่ทำงานไปแล้ว แต่ให้เหตุผลว่าส่งไม่ได้เพราะไปธุระข้างนอกยังไม่กลับ การที่จำเลยแปลความคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบทนายโจทก์ถามติงว่า โจทก์รู้ว่าจำเลยออกจากงานแล้วก่อนที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องนั้นเป็นการแปลความของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำเบิกความดังกล่าวแสดงว่าหลังจากถูกฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยจึงลาออกจากการเป็นพนักงานโรงงานยาสูบ มิใช่เป็นคดีที่ถูกฟ้องก่อนหน้าคดีนี้ดังความเข้าใจของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นนั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาประการต่อมาที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้นั้น โจทก์มีตัวโจทก์เข้าสืบประกอบหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ จำเลยปฏิเสธอ้างว่า มิได้ไปอยู่ด้วยในวันดังกล่าวโดยอ้างนางสาวสมลักษณ์ซึ่งเป็นผู้ต้องรับผิดในมูลหนี้เดียวกันมาเป็นพยาน แต่ก็นับเป็นพยานที่มีน้ำหนักน้อยเพราะต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่มีต่อโจทก์เช่นเดียวกัน คดีนี้เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยประกอบกับการเปรียบเทียบลายมือชื่อที่จำเลยเขียนไว้ในเอกสารต่างๆ มาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่ลงชื่อไว้ในใบแต่งทนายความ หรือในบันทึกคำเบิกความของจำเลยเอง ก็ล้วนมีลักษณะการเขียนและลายเส้นที่คล้ายคลึงกัน น่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันกับที่เขียนไว้ในหนังสือค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ ซึ่งศาลมีอำนาจสันนิษฐานและลงความเห็นเช่นนี้ได้ เพราะเป็นความเห็นอันเป็นธรรมดาสามัญ ซึ่งบุคคลธรรมดาสามารถวินิจฉัยได้ในลักษณะความเหมือน ความต่างหรือคล้ายคลึง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าลายมือชื่อที่ลงไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้ น่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาข้อต่อมาที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 นั้น เห็นว่า หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับนางสาวสมลักษณ์เป็นหนี้เงินกู้มีอายุความ 10 ปี ขณะที่ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้นั้น ยังไม่หมดอายุความ ดังนั้น จะนำอายุความ 2 ปี เรื่องการรับสภาพความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 มาใช้บังคับไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ชอบแล้วเช่นกัน
ปัญหาที่จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า จำเลยจะต้องรับผิดเพียงใด เห็นว่าเมื่อจำเลยยินยอมทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และโจทก์ฟ้องบังคับนางสาวสมลักษณ์ลูกหนี้เดิมยังขาดอยู่เท่าใด ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนั้นต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมให้ชำระหนี้จนครบได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ชอบแล้วเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยล้วนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share