คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าคนภายนอกคดีจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ได้ จะต้องมีการบังคับคดีเสียก่อน ถ้าคนภายนอกร่วมกระทำกับลูกหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 350 ก็เป็นตัวการมีความผิดตามมาตรานี้ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้ข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยมาไม่ถูกต้องก็ไม่มีผลให้ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์อาศัยยกฟ้องโจทก์นี้เปลี่ยนแปลงไป และข้อเท็จจริงนี้เป็นอันยุติ เมื่อข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มารตรา 219 โจทก์ก็จะฎีกาต่อไปอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินและคืนที่นาบางส่วนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกนางสาวใครในคดีนั้น จำเลยที่ ๑ ทราบคำพิพากษาแล้วและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็ทราบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ได้ทำการทุจริต โดยจำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานทำการโอนให้ ณ หอทะเบียนที่ดินโดยเจตนามิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ขอให้ลงโทษซึ่งศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วคงรับฟ้องเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ ให้จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๒๐๐ บาท แต่ให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด ๑ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ และ ๓ นั้น พยานโจทก์ไม่พอฟังให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ กระทำผิดดังฟ้อง แต่จำเลยที่ ๒ เป็นคนนอกคดี คำพิพากษาในคดีแพ่งไม่ผูกพันถึง เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ตามมาตรา ๓๕๐ ที่จะมีผลถึงคนนอกคดีก็จำต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อน จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนทรัพย์ไว้จากจำเลยที่ ๑ ก่อนคำบังคับคดีของศาลไปถึงจำเลยที่ ๑ โดยรับโอนไว้ตามมูลหนี้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ ๑ ก่อน ในราคาพอสมควรโจทก์ก็สืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทราบคำสั่งตามคำบังคับให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ จะถือว่าจำเลยที่ ๒ ทำการทุจริตต่อโจทก์ด้วยไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๓ โจทก์มิได้ขออายัดที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ในการจดทะเบียนจึงไม่เป็นเหตุที่โจทก์จะอ้างว่าได้ทำความเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒, ๓ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าคนภายนอกคดีจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ ได้ จะต้องมีการบังคับคดีเสียก่อน ถ้าคนภายนอกร่วมกระทำกับลูกหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๐ ก็เป็นตัวการมีความผิดตามมาตรานี้ได้ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้ข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยมาไม่ถูกต้องก็ไม่มีผลให้ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์อาศัยยกฟ้องโจทก์นี้เปลี่ยนแปลงไป และข้อเท็จจริงนี้เป็นอันยุติเมื่อข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๙ โจทก์ก็จะฎีกาต่อไปอีกไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบแบบแผนแล้ว จึงไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share