คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4611/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การที่จำเลยที่ 1 ซื้อของกลางไว้ จะเป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคล แต่ความผิดฐานรับของโจรมิใช่เป็นความผิดเฉพาะตัวนิติบุคคล จำเลยที่รับของโจรมิใช่เป็นเป็นความผิดเฉพาะตัวนิติบุคคลจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดเป็นส่วนตัวด้วย ความผิดฐานรับของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357มิใช่เป็นความผิดเฉพาะกรณีรับทรัพย์ไว้จากคนร้ายซึ่งลักทรัพย์หรือกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามมาตรา 357วรรคแรกโดยตรงเท่านั้น การรับทรัพย์ไว้จากผู้กระทำความผิดฐานรับของโจทก์ หากรับไว้โดยรู้อยู่ว่าทรัพย์ที่ถูกลักมาก็เป็นความผิดฐานรับของโจร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83,71 คืนของกลางแก่เจ้าของและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงินจำนวน 412,200 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำคุก 2 ปี ข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2 คืนของกลางแก่เจ้าของคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจรแต่ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษโดยไม่ระบุวรรคไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงเลื่อยโดยสั่งจากบริษัทอาร์มสตรองแมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัดประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาจำหน่าย เมื่อระหว่างวันที่1 พฤษภาคม 2527 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2527 เวลากลางวันวันใดไม่ปรากฎชัด มีคนร้ายบังคับอาจลักเอาสินค้าเครื่องบีบฟันเลื่อนยี่ห้ออาร์มสตรองขนาด 4 ตัวหน้าจำนวน 6 ตัว ตัวหลังจำนวน8 ตัว ขนาด 3 หุน ตัวหน้าจำนวน 1 ตัว และยี่ห้อโอมิคส์ ขนาด3 หุนตัวหน้าและตัวหลังอย่างละ 1 ตัว ของโจทก์ร่วม ซึ่งเก็บไว้ในห้องเก็บสินค้าไป ต่อมาคนร้ายได้นำเครื่องบีบฟันเลื่อนดังกล่าวจำนวน5 ชุด (1 ชุด เท่ากับตัวหน้า 1 ตัว และตัวหลัง 1 ตัว) ไปขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อลายด์แวร์ส ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ครั้นวันที่ 25 กรกฎาคม 2527 เจ้าพนักงานยึดทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์ร่วมได้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดอลายด์แวร์สเป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้ซื้อของกลางไว้จากคนร้ายด้วยตนเองหรือไม่ และจำเลยที่ 1ทราบหรือไม่ว่าของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดอันเข้าลักษณะลักทรัพย์พฤติการณ์เหล่านี้บ่งว่า จำเลยที่ 1รู้อยู่แล้วว่าของกลางที่ซื้อไว้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ซื้อของกลางในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด อลายด์แวร์สไม่ใช่เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด อลายด์แวร์ส เป็นจำเลยด้วย ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1ไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้การที่จำเลยที่ 1 ซื้อของกลางไว้จะเป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด อลายด์แวร์ส ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็ตาม แต่การกระทำนั้นก็เป็นความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก แล้วซึ่งความผิดที่กล่าวนี้มิใช่เป็นความผิดเฉพาะตัวนิติบุคคลตามที่กฎหมายระบุไว้จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดเป็นส่วนตัวด้วย ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด อลายด์แวร์ส เป็นจำเลยด้วย ศาลก็ชอบที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 นั้น ต้องเป็นกรณีรับทรัพย์ไว้จากคนร้ายที่ได้กระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 357 วรรคแรก โดยตรง แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 รับทรัพย์ของกลางไว้จากนายพิพัฒน์ แซ่จึง ซึ่งเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดฐานรับของโจรไม่ใช่คนร้ายที่กระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 357 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรนั้น เห็นว่า การกระทำซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 นั้น มิใช่เป็นความผิดเฉพาะกรณีที่รับทรัพย์ไว้จากคนร้ายซึ่งลักทรัพย์ หรือกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามมาตรา 357 วรรคแรก โดยตรงเท่านั้น กรณีที่รับทรัพย์ไว้จากคนร้ายที่ได้กระทำความผิดฐานรับของโจร หากรับไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เช่นกัน ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าขณะซื้อทรัพย์ของกลาง จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรกแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษนั้นเห็นว่า ขณะนี้จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน โดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด อลายด์แวร์ส มีครอบครัวแล้วโดยมีภริยา และมีบุตรเป็นผู้เยาว์ซึ่งจะต้องอุปการะเลี้ยงดู 3 คนอายุ 8 ปี 6 ปี และ 4 ปี ตามลำดับ ปรากฎตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารอันดับที่ 93 แผ่นที่ 3 ในสำนวน จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน แต่ที่ได้กระทำความผิดในครั้งนี้ก็เนื่องจากได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าประเภทเดียวกับทรัพย์ของกลางในคดีนี้อยู่เป็นปกติ ทำให้เกิดช่องโอกาสกระทำความผิดกรณีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกไว้ คงปรับสถานเดียวและใช้วิธีการคุมประพฤติเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 1กลับตัวเป็นพลเมืองดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 4 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 1โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งตลอดระยะเวลา 2 ปีแรกที่รอการลงโทษ เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติสอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือน ตามที่เห็นควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share