แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นความผิดต่อศาลและการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลฎีกา และเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่กรณีละเมิดอำนาจศาลให้ยกคำร้อง ของ จำเลย จำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าวได้
ย่อยาว
กรณีเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งมรดกแก่โจทก์จำเลยต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์เก็บผลประโยชน์จากทรัพย์สินในกองมรดก ฝ่าฝืนคำพิพากษาฎีกา เป็นการละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียหายโดยตรง ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ขอให้พิพากษาลงโทษโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นความผิดต่อศาลและการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ในกรณีนี้จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อศาลว่า โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้นายบุญส่งกับพวกเข้าไปเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์สินกองมรดก เป็นการฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลฎีกาและเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งหมดที่ปรากฏต่อศาลแล้ว เห็นว่ามิใช่เป็นกรณีละเมิดอำนาจศาล จึงให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เสีย ดังนี้จำเลยที่ 1 ย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน